แฉราคาขายจริง... ยาโมลนูพิราเวียร์ เหตุใด ? ในฝั่งไทย มีราคาสูงมากกว่าหมื่นบาท (1x,xxx บาท) แต่พอเดินข้ามรั้วไป ประเทศเพื่อนบ้านติดกัน มีขายในราคาพันกว่าบาท (1,xxx บาท) แถมยัง Walk-in หาซื้อได้ง่าย ตามร้านขายยา จริงหรือไม่ ? Backbone MCOT มีข้อมูลของ 2 อาจารย์หมอ มาขยายความ แม้ว่า บ้านเค้าจะวางขายมาตั้งแต่ต้นปี แต่บ้านเราวันนี้ อย. ได้อนุญาตแล้ว... อนุญาตแบบไหน และหาซื้อง่ายหรือไม่ ? ที่ไหนราคาถูก ? ที่ไหนราคาแพง !! แล้วเหตุใดบ้านเรา ราคาขนาดนี้ ? มีคำตอบมาบอกกัน
วันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้โพสต์ข้อความ หมอดื้อ ผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha ฝากเตือนทุก ๆ คน ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 สายพันธุ์ โอไมครอน โดยระบุว่า
ให้ท่องขึ้นใจ
1. ไม่สบาย แยกตัวทันที อย่ารอ 2 ขีด (ATK) เพราะ เมื่อ 2 ขีดมา หมายความว่า แพร่ให้คนใกล้ตัวเรียบร้อยหมดแล้ว ATK 40 บาท, PCR 2,000 ต้องเข้าใจข้อจำกัด
2. ฟ้าทะลายโจร เริ่มทานทันทีเมื่อติด แต่ละยี่ห้อ มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ ไม่เท่ากัน กินเมื่อติด 5 วัน ใช้ถูกใช้เป็น ตามขนาด กระทรวงสาธารณสุข ไม่เกิดตับอักเสบ ผู้ใหญ่ 60 มก. เช้า กลางวัน เย็น หนึ่งวันได้ 180 มก., เด็ก 10 มก. เช้า กลางวัน เย็น หนึ่งวันได้ 30 มก.
3. ฟ้าทะลายโจร เอาไม่อยู่ เข้าวันที่ 2 ให้ติดต่อ การรักษาตามสิทธิ ปัญหาคือ เตียงเต็ม, และกลุ่มอาการมาก แม้จะไม่ใช่ 608 เช่น อายุ 30 - 40 ปี อาการหนักก็มี และก็ต้องการ การรักษาเช่นกัน แต่ติดขัดเข้าไม่ถึงการประเมิน และ ยา
+ ยา “โมลนูพิราเวียร์” โดยราคาของยานี้ 1 กระปุก มี 40 เม็ด ราคา 10,000 กว่าบาท
+ ยา “ฟาร์วิพิราเวียร์” ก็มีราคาเช่นกัน และมีแนวโน้มดื้อได้ แต่ยังใช้ได้
ทั้ง 2 ตัวยา ต้องให้แต่เริ่มมีอาการ ถ้าอาการยกระดับแล้ว ช้าไป ประสิทธิภาพจะจำกัด
ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลเรื่องของราคา ยาโมลนูพิราเวียร์ จากบทความ หมอดื้อ (ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา) ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กบอกไว้ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา ว่า
ขอร้องทางการ ช่วยทำให้โควิด เป็นเรื่องปกติ (ด้วยความเคารพครับ) น้อง ๆ หมอ บอกว่า โรงพยาบาลเอกชน สั่งซื้อโมลนูพิราเวียร์ ทำจากอินเดีย ยี่ห้อ mylan จากทางการไทย ได้ราคาชุดละ 10,600 บาท แต่หมอกันเอง ซื้อกัน ประมาณ 2,000 กว่าบาท ต่อชุด (40 เม็ด) หรือถูกกว่า จาก สปป.ลาว, เขมร, อินเดีย (ยี่ห้อ เดียวกัน) เวียดนาม ประเทศเหล่านี้ ขอความยินยอมจากบริษัท ในการผลิตยาเองตั้งแต่ต้น
ทำอย่างไร ประเทศไทย ถึงจะได้ราคาถูกแบบนี้ และสามารถสั่งจ่ายได้เลย ทั้งที่โรงพยาบาลทุกแห่ง และที่สำคัญ ก็คือ ร้านขายยาทุกแห่ง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์คือ สีเหลืองขึ้นไป ไม่ใช่ใช้เกินความจำเป็น จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่อง ดื้อยา และไม่ต้องกังวลว่า จะมียาปลอมหรือไม่
คนที่รู้จักสนิท กลับมาจากเวียดนาม 2 วันที่แล้ว ยืนยันราคาตามนี้ ขายตามร้านขายยาทั่วไป คนในประเทศ เห็นเป็นเรื่องปกติแล้ว ไม่สบายซื้อยา และได้ยาตามความเหมาะสมเลย ไม่ใช่รออาการหนัก จนยาเหล่านี้ไม่ได้ผล เพราะต้องใช้แต่เนิ่น ๆ และไม่ต้องหาม เข้าโรงพยาบาล ที่ไม่มีเตียง ถ้าทางการ มีการติดต่ออย่างจริงจัง เราก็น่าจะได้ ผลบุญเช่นนี้นะครับ
นอกจากข้อมูลราคา ยาโมลนูพิราเวียร์ จากอาจารย์ หมอดื้อ แล้ว Backbone MCOT มีข้อมูลราคา ยาโมลนูพิราเวียร์ จาก... อาจารย์หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทาง สาขาอายุรศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ที่ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2565 เปิดเผยว่า
วันนี้ขอแชร์สั้น ๆ เรื่องที่คนไข้ชาวเขมร เล่าให้ผมฟัง ผู้ป่วยชาย อายุ 42 ปี ป่วยเป็นโรคโควิด 19 ไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาล ในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2565 แพทย์ที่นั่น จ่ายยาโมลนูพิราเวียร์ นำเข้าจากประเทศอินเดีย (ดูรูป) ให้กินเช้า 4 เม็ด เย็น 4 เม็ด นาน 5 วัน อาการดีขึ้น เขาจ่ายเงินค่ายา คิดเป็นเงินไทย 1,500 บาท ยานี้ ผลิตในประเทศอินเดีย ราคาขาย 2,000 รูปี คิดเป็นเงินไทย 878 บาท (ดูรูป) ในกัมพูชา สามารถซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ต้นปี 2565 และแพทย์ที่นั่น ไม่ให้ยาฟาวิพิราเวียร์แล้ว ประเทศกัมพูชา ก้าวหน้ากว่าไทย เรื่องการใช้ยาต้านไวรัส รักษาโรคโควิด 19
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (21 กรกฎาคม 2565) เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า อย. อนุญาตให้กระจายยา ยารักษาโควิด 19 ไปคลินิกเวชกรรมได้
โดย นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า เมื่อวาน (20 กรกฎาคม 2565) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ออกประกาศเพิ่มเติม จากเดิมที่ผู้ขึ้นทะเบียน สามารถจำหน่ายยา ให้กับโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้เท่านั้น ให้สามารถกระจาย ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาต้านไวรัสอื่น ๆ ไปในระดับคลินิกเวชกรรม ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล 2541 ได้... แต่ยังต้องเป็นการจ่ายยา โดยแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามแนวทางการใช้ยาของ กระทรวงสาธารณสุข และใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ทั้งนี้ คลินิกเวชกรรม สามารถจัดหายาได้เอง จากบริษัทเอกชน ที่นำเข้า และขึ้นทะเบียนกับ อย. แล้ว
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคโควิด 19 มีการใช้ยา ที่เกี่ยวข้องหลายชนิด หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มยาต้านไวรัส ซึ่งปัจจุบัน ได้มีการขึ้นทะเบียนกับ อย. จำนวนหลายทะเบียน โดยเกือบทั้งหมด เป็นบริษัทเอกชน ได้แก่
+ ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) 3 ทะเบียน
+ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) 5 ทะเบียน
+ ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) 1 ทะเบียน
+ ยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) 2 ทะเบียน
และมียาที่นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม เพื่อสนับสนุนภารกิจของ กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ บริษัทเอกชนทั้งหมด ที่มาขึ้นทะเบียน และเป็นผู้นำเข้ายา จะสามารถจำหน่ายยา ให้กับโรงพยาบาล ทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ เช่น ยาเรมเดซิเวียร์ ที่ขึ้นทะเบียนโดย บริษัทเอกชน 5 บริษัท ได้มีการจำหน่ายยา ให้กับโรงพยาบาลเอกชน สำหรับผู้ป่วย ที่นอนโรงพยาบาล ไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยไม่มีการปิดกั้น หรือผูกขาด การนำเข้ายาแต่อย่างใด และล่าสุด ทาง อย. ยังได้มีประกาศเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถจำหน่ายยา ไปยังคลินิกเวชกรรมได้อีกด้วย เป็นการเพิ่มช่องทาง การเข้าถึงการรักษา และการรับยาเพิ่มเติม ของประชาชน
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha
https://www.facebook.com/thiravat.h
เฟซบุ๊ก : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC
https://www.facebook.com/FC-604030819763686
เว็บไซต์ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
https://oryor.com
21 ก.ค. 2565
4830 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย