13 มี.ค.65 - เปิด 8 เรื่องไม่ลับของ “ช้างไทย” ที่จะช่วยให้เราได้รู้จักช้างไทย สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมากยิ่งขึ้น
13 มีนาคม เป็น "วันช้างไทย" ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2506 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มี มติเลือกให้ “ช้างเผือก” เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ เนื่องจากช้างเผือกเป็นสัตว์ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และประเพณีของไทยรู้จักกันแพร่หลาย และมีอายุยืนนาน และ 35 ปีต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ประกาศให้วันที่ 13 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันช้างไทย เพื่อให้คนไทยและเยาวชนรุ่นหลังได้ร่วมกันรำลึกและตระหนักถึงความสำคัญของช้าง และพร้อมใจกันอนุรักษ์ช้าง ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
ช้างไทย ยังมี 8 เรื่องที่น่าสนใจ ที่จะทำให้เรารู้จักช้างไทยมากยิ่งขึ้น
1. ช้างเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองสถานภาพช้างตาม IUCN RED LIST (EN) เป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และตามอนุสัญญา CITES บัญชีหมายเลข 1 (APPENDIX I) ห้ามค้าขายโดยเด็ดขาด
2. "สายพันธุ์ช้างเอเชีย" ประกอบด้วย
•ช้างอินเดีย มีขนาดปานกลาง สีดำตัวไม่เข้มมาก บริเวณตกกระสีชมพูมีปริมาณปานกลาง
•ช้างศรีลังกา มีขนาดใหญ่สุดสีเข้มสุด ยกเว้นบริเวณหู หน้างวง และท้องไม่มีเม็ดสี
•ช้างสุมาตรา จะขนาดเล็กที่สุด และมีสีอ่อนที่สุดไม่ค่อยมีบริเวณตกกระสีชมพู
3. ความแตกต่างระหว่างช้างเอเชียและช้างแอฟริกา
•หู : ช้างเอเชียมีหูขนาดเล็ก ช้างแอฟริกามีขนาดใหญ่
•หลัง : ช้างเอเชียมีหลังโค้งลาดลงช้างแอฟริกาหลังแอ่น
•งา : ช้างเอเชียมีงาเฉพาะตัวผู้บางตัว
ช้างแอฟริกามีงาทั้งตัวผู้ตัวเมีย
•ตีน : ช้างเอเชียตีนหน้ามี 5 เล็บ ตีนหลังมี 4 เล็บ
ช้างแอฟริกาตีนหน้ามี 4 เล็บ ตีนหลังมี 3 เล็บ
•ความสูง : ช้างเอเชียตีนสูงเฉลี่ย 2.3 - 2.7 เมตร
ช้างแอฟริกาสูงเฉลี่ย 3 - 3.6 เมตร
•น้ำหนัก : ช้างเอเชียตีนหนักเฉลี่ย 3 - 3.5 ตัน
ช้างแอฟริกาสูงเฉลี่ย 4 - 4.55 ตัน
4. "งวงช้าง" อวัยวะที่มีความสำคัญทำหน้าที่
•จมูก : ช้างใช้งวงในการหายใจทดมกลิ่นและเป็นเครื่องมือสื่อสารกับช้างตัวอื่น ๆ
•มือ : งวงช้างเปรียบเสมือนมือ ใช้จับอาหารเข้าปาก ใช้โน้มดึงส่วนของพืชที่สูงกว่า 4-5 เมตรลงมากิน
•อาวุธ : งวงช้างเป็นอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมากกว่า 40,000 มัด มีเส้นเลือด เส้นเอ็น และเส้นประสาท หล่อเลี้ยงจำนวนมาก ทำให้งวงมีความแข็งแรงให้เป็นอาวุธในการต่อสู้กับศัตรูได้
5. "งาช้าง" ช้างใช้งาในการลอกเปลือกไม้ ขุดรากไม้ ขุดดินโป่งเป็นอาหารขุดหาแหล่งน้ำ ทำเครื่องหมายบนต้นไม้และเป็นที่วางพักของงวง นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาวุธในการต่อสู้ป้องกันตัว
•ส่วนของงาช้างบ้านช่วยในการทำไม้ เช่น งัดไม้และยกท่อนซุง โดยใช้งวงกับงา นอกจากนี้มนุษย์ยังใช้งา ทำเป็นเครื่องประดับและของใช้ต่าง ๆ เช่น แกะสลักทำเป็นตราประทับ (Hanko stamp)
6. "การมองเห็น" ตาของช้างมีขนาดเล็กมาก เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดตัวที่ใหญ่โตของช้าง ช้างเป็นสัตว์ที่สายตาไม่ดี ระยะมองเห็นชัดเจนอยู่ในระยะไม่เกิน 10 เมตร
•ช้างมีลักษณะอาการตาบอดสีแดงและสีเขียว แต่ช้างยังสามารถจำแนกมองเห็นแม่สีหลัก อย่างเช่น สีน้ำเงิน และสีเหลืองได้ชัดเจน
7. "ช้างเล่นฝุ่น" ช้างชอบเล่นฝุ่น โดยใช้งวงพ่นฝุ่นใส่ตัว หรือบางครั้งจะพ่นรรอบใบไม้ใบหญ้าลงบนหลัง เพื่อเป็นการป้องกันแสงแดดและแมลง
8. "การประลองกำลัง" โดยปกติช้างป่าไม่มีพื้นที่อาศัยประจำที่จะต้องปกป้อง แต่พวกมันจะเดินหน้าหากินเป็นวงรอบ การต่อสู้จะนำมาซึ่งชัยชนะ และการครอบครองบริเวณพื้นที่หากิน โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อให้ได้ผสมพันธุ์
ทั้ง 8 เรื่องนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องลับๆ ของช้างไทย แต่จะทำให้เรารักช้างไทย และช้างโลกมากยิ่งขึ้น
•
ขอบคุณที่มา : หนังสือ 55 คำถามเกี่ยวกับช้างไทย, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาการจัดการพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า, สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า