วันศุกร์สุดสัปดาห์วนมาอีกแล้ววว มีใครคิดถึง #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง_BBMCOT ไหมคะ? วันนี้แอดมินรวบรวมเอาคำที่อาจจะมีหลาย ๆ คนอาจจะเคยใช้ผิดมาฝากกันอีกแล้วค่ะ เพื่อน ๆ คนไหนมีคำที่เคยเจออีกเอามาแชร์กันได้นะคะ
ทำเนียบ
มี 2 ความหมาย คือ
1. เป็นคำนาม หมายถึง ที่พักทางราชการของผู้มีตำแหน่งสูง เช่น ทำเนียบผู้สำเร็จราชการ, ที่ทำการของคณะรัฐบาล เรียกว่า ทำเนียบรัฐบาล.
2. เป็นคำที่แผลงมาจากคำว่า “เทียบ” มี 2 ความหมาย คือ
เป็นคำกริยา หมายถึง เทียบ, เปรียบ
เป็นคำนาม หมายถึง การลำดับตำแหน่งหน้าที่ซึ่งวางเป็นระเบียบแบบแผนขึ้นไว้ เช่น ทำเนียบสมณศักดิ์ ทำเนียบข้าราชการ
รำคาญ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติคำว่า “รำคาญ” เอาไว้ว่ามี 3 ความหมาย คือ
1. เป็นคำกริยา หมายถึง ระคายเคือง เช่น รำคาญหู รำคาญตา รำคาญเนื้อ รำคาญตัว
2. เป็นคำกริยา หมายถึง เบื่อ เช่น ทำสวนครัวแก้รำคาญ
3. เป็นคำกริยา หมายถึง ทำให้เดือดร้อน, เบื่อหน่าย, เช่น เสียงทะเลาะกันทำให้รำคาญ.
เซ็นชื่อ
เซ็น มาจาก ภาษาอังกฤษคำว่า sign เป็นคำกริยา หมายถึง ลงลายมือชื่อ, เซ็นชื่อ ก็ว่า, (ปาก) ซื้อโดยค้างชำระเงินและผู้ขายลงบัญชีไว้เป็นหลักฐาน เช่น เซ็นค่าก๋วยเตี๋ยวไว้ก่อน
ผูกพัน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติคำว่า “ผูกพัน” เอาไว้ว่ามี 3 ความหมาย คือ
1. เป็นคำกริยา หมายถึง มีความเป็นห่วงกังวลเพราะรักใคร่เป็นต้น
2. เป็นคำกริยา หมายถึง ก่อให้เกิดพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม
3. (การคลัง) ก่อหนี้สินผูกมัดรัฐบาลให้ต้องจ่ายในงบประมาณแผ่นดินต่อ ๆ ไป เช่น หนี้ผูกพัน งบประมาณผูกพัน รายจ่ายผูกพัน.
มุกตลก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติคำว่า “มุกตลก” เอาไว้ว่าใช้ ก สะกด และเป็นคำนาม หมายถึง วิธีทำให้ขบขัน
ส่วนคำว่า “มุข” นั้น มาจากภาษาบาลีสันสกฤต มี 4 ความหมาย คือ
1. อ่านว่า [มุก, มุกขะ-] เป็นคำนาม หมายถึง หน้า, ปาก
2. เป็นคำนาม หมายถึง ทาง
3. เป็นคำนาม หมายถึง หัวหน้า (เราอาจเคยได้ยินคำว่า ประมุข)
4. เป็นคำนาม หมายถึง ส่วนของตึกหรือเรือนที่ยื่นออกมาจากส่วนใหญ่ มักอยู่ด้านหน้า
ทูต
มีที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต เป็นคำนาม หมายถึง ผู้นำข้อความไปแจ้งทั้ง ๒ ฝ่าย, ผู้รับใช้ไปเจรจาแทน, ผู้สื่อสาร, ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนไปยังต่างประเทศ เพื่อเจรจาหรือเจริญสัมพันธไมตรีเป็นทางราชการ
ภารกิจ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติคำว่า “ภารกิจ” เอาไว้ว่า
เป็นคำนาม หมายถึง งานที่จำต้องทำ
ภารกิจ มีที่มาจากคำภาษาบาลี ได้แก่ ภาร และ กิจฺจ มีความหมายดังนี้
ภาร, ภาร-, ภาระ มี 4 ความหมาย คือ
1. อ่านว่า [พาน, พาระ-] เป็นคำนาม หมายถึง ของหนัก, นํ้าหนัก
2. เป็นคำนาม หมายถึง ธุระที่หนัก, การงานที่หนัก
3. เป็นคำนาม หมายถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่มีภาระในการเลี้ยงดูลูก ครูมีภาระในการอบรมสั่งสอนศิษย์, ความรับผิดชอบ เช่น พ่อแม่ตายหมด พี่ต้องรับภาระส่งเสียเลี้ยงดูน้อง
4. อ่านว่า [พาน, พาระ-] เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง หนัก.
ในการรับคำภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คำไทยแท้มาใช้มักมีวิธีการสร้างคำขึ้นมาเพื่อให้เพียงพอต่อการสื่อสาร คำว่า “ภารกิจ” ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่เรารับมาโดยใช้วิธีการ “สมาส” ในการสร้างคำ ซึ่งเป็นการนำคำภาษาบาลี-สันสกฤตตั้งแต่ 2 บทขึ้นไปมารวมกันจนเกิดเป็นคำใหม่ มีข้อสังเกตคือ ในการอ่านมักอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำที่มาต่อกัน เช่น ภารกิจ อ่านว่า พา-ระ-กิด, เกียรติคุณ มาจากคำว่า เกียรติ+คุณ อ่านว่า เกียด-ติ-คุน หรือบางคำจะอ่านออกเสียงพยางค์เชื่อมระหว่างคำหรือไม่ก็ได้
โคตร
มีที่มาจากภาษาบาลีคำว่า โคตฺร ภาษาสันสกฤตคำว่า โคตฺต ไทยรับมาใช้ในรูป “โคตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บัญญัติคำว่า “โคตร, โคตร-” เอาไว้ว่า มี 2 ความหมาย คือ
1. อ่านว่า [โคด, โคดตฺระ-] เป็นคำนาม หมายถึง วงศ์สกุล, เผ่าพันธุ์, ต้นสกุล
2. เป็นคำนาม ซึ่งคำนี้บางทีก็นำไปใช้ในความหมายไม่สุภาพหรือเป็นคำด่า เช่น ก่นโคตร
เกร็ดน่ารู้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา มีเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในภาษาไทย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน โดยมีหลักเกณฑ์เบื้องต้น 5 ข้อ คือ
1. การทับศัพท์ให้ถอดอักษรในภาษาเดิมพอควรแก่การแสดงที่มาของรูปศัพท์ และให้เขียนในรูปที่อ่านได้สะดวกในภาษาไทย
2. การวางหลักเกณฑ์ได้แยกกำหนดหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาต่าง ๆ แต่ละภาษาไป
3. คำทับศัพท์ที่ใช้กันมานานจนถือเป็นภาษาไทย และปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานแล้ว ให้ใช้ต่อไปตามเดิม เช่น ช็อกโกเลต, ช็อกโกแลต, เชิ้ต, ก๊าซ, แก๊ส
4. คำวิสามานยนามที่ใช้กันมานานแล้ว อาจใช้ต่อไปตามเดิม เช่น
Victoria = วิกตอเรีย
Louis = หลุยส์
Cologne = โคโลญ
5. ศัพท์วิชาการซึ่งใช้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่ศัพท์ทั่วไป อาจเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ขึ้นตามความจำเป็น
ดูหลักเกณฑ์การทับศัพท์เพิ่มเติม คลิก : https://www.orst.go.th/iwfm_list.asp?i=0040002104011001%2F63ERJ5716056
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก
รศ.พัฒน์ เพ็งผลา. (2541). บาลีสันสกฤตในภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554. (ออนไลน์) https://dictionary.orst.go.th/
ป.ล. แอดมีแหล่งเช็กคำผิดถูกอื่น ๆ มาฝากทุกคนด้วยน้า
แล้วพบกันทุกวันศุกร์สะดวก กับ #คำไทยรู้ไว้ใช้ถูกต้อง_BBMCOT ค่า
.คำทับศัพท์ใช้แบบไหน?
เช็กได้ที่ระบบฐานข้อมูลคำทับศัพท์ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา https://transliteration.orst.go.th/search
.คำนี้เขียนถูกไหม?
เช็กได้ที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ออนไลน์)
https://dictionary.orst.go.th/