30 เม.ย.65 - โควิด-19 ทำให้การเดินหน้าหลายกิจการต้องหยุดชะงัก แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น อย่าง “เซอร์วิสโรบอท” ก้าวเข้ามาเป็นตัวช่วยชั้นดี ที่ทำให้กิจการ ธุรกิจต่าง ๆ กลับมาฟื้นตัวเดินหน้าได้อีกครั้ง
ย้อนกลับไปเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 สถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้ หลายคนตั้งตัวไม่ทัน หลายกิจการ ภาคธุรกิจถูกจำกัดวิธีการทำงานทั้งหมด ทุกอย่างถูกปิด ถูกกั้น บ้างก็ครึ่งเดือน บ้างก็เต็มเดือน หรือต่อไปอีกหลายเดือน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ที่หากยิ่งแพร่กระจาย โอกาสที่ประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็วก็ยากขึ้นไปอีก
แต่หากจะปล่อยไปแบบนี้ ใช้วิธีเดิมแบบนี้ทุกครั้งไป นั่นก็อาจเป็นดาบสองคม ที่ทำให้กิจการต่าง ๆ ต้องปิดตัวถาวรกระทบถึงแรงงานที่ต้องขาดอาชีพ ขาดรายได้ ยาวเป็นลูกโซ่ของระบบเศรษฐกิจ จึงเริ่มมองหาตัวช่วยที่จะลดโอกาสติดเชื้อโรค และได้ผลลัพธ์ในการทำงานที่ใกล้เคียงของเดิม
เทคโนโลยี โดยเฉพาะ “เซอร์วิสโรบอท” เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกนำเข้ามาช่วยรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเป็นตัวช่วยลดการสัมผัส แก้ปัญหาขาดแรงงานในบางจุด หรือจะเป็นตัวอำนวยความสะดวกในการทำงานในระยะยาว ซึ่งประสิทธิภาพของเซอร์วิสโรบอทในปัจจุบันสูงขึ้นจากในอดีตมาก มีฟังก์ชันที่ใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายขึ้น ทันสมัยขึ้น ก้าวล้ำขึ้น
หนึ่งในกิจการที่นำเซอร์วิสมาใช้ และเห็นผลมาที่สุดในช่วงดังกล่าว ก็คือ สถานพยาบาล ที่หุ่นยนต์ หรือเหล่าเซอร์วิสโรบอท สามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างดี โดยเฉพาะการลดโอกาสที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญกับผู้ติดเชื้อบ่อยครั้ง หุ่นยนต์สามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยโดยไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อ ทั้งการส่งยา ส่งอาหาร หรือแม้กระทั้งการเป็นตัวช่วยคุณหมอที่ใช้ระบบการสื่อสารจากหุ่นยนต์ตรวจอาการของผู้ป่วยนั้นเอง
นพ.อำนาจ พิศาลจำเริญ ผอ.โรงพยาบาลบางปะกอก1 บอกว่า เทคโนโลยีเป็นทางออกหนึ่งที่เสริมการทำงานของบุคคลากรทางการแพทย์ เป็นที่ทราบกันว่าบุคลากรทางบการแพทย์ 1 คนจะต้องดูแลผู้ป่วยหลาย 10 คน ซึ่งหากมีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ อาจทำให้คนที่เหลือต้องทำงานหนักขึ้น หรืออาจรับมือได้ยากขึ้น
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จึงเป็นสิ่งสำคัญหากถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสม และได้รับการสนับสนุนต่อยอดที่ตรงจุด เทคโนโลยีก็จะเป็นอีกตัวช่วยที่มาดูแลความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนเราได้มากขึ้น เราอาจเห็นการรักษาทางไกล การให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านสมาร์ทโฟน หรือหุ่นยนต์ ที่จะทำให้การรักษา การดูแลสุขภาพง่ายขึ้นปลอดภัยขึ้นในอนาคต
รศ.นพ. กัมมาล กุมาร ปาวา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า วันนี้ถ้าเราไม่เปลี่ยน เขาเปลี่ยนคุณแน่นอน จากเดิมเราไม่เคยเห็นหุ่นยนต์เดินให้บริการ วันนี้เราเห็นหุ่นยนต์เดินอยู่ทั่วไป จากเราไม่เคยเห็นคนใช้แอปฯ ก็มีการใช้งานในทุกภาคส่วนมากขึ้นหลายเท่าตัว การใช้จ่ายเดี๋ยวนี้ไม่รับธนบัตรแล้ว เขาบอกใช้คิวอาร์โค้ดอย่างเดียว 100% แปลว่าแนวโน้มของการคิดเริ่มเปลี่ยนแล้ว
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองเห็นและกำลังเริ่มต้นทำให้การบริการด้านสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีเป็นไปได้จริงด้วย Medical Hub ที่จะประกอบระบบต่าง ๆ ของเทคโนโลยีที่ครบถ้วน รวมถึงเซอร์วิสโรบอท ที่เมื่อนำมาผสานกับเทคโนโลยีที่ภาคเอกชนมีความพร้อม ใส่ลงไปด้วยกันจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน
ข้ามไปฟังทางฝั่งธุรกิจร้านอาหารกันบ้าง มองเซอร์วิสโรบอท เป็นตัวช่วยของร้าน แต่ไม่ได้เข้ามาแทนที่คน 100% ปฏิสัมพันธ์ของลูกค้ากับพนักงาน ยังมีความจำเป็น เพียงแต่เซอร์วิสโรบอท จะช่วยงานบางอย่างที่ไม่ต้องใช้สกิลการเชื่อต่อระหว่างคนกับคน เช่น การส่งอาหาร การรับอาหารจากครัว หรือการต้อนรับสร้างบรรยากาศในหน้าร้าน
นายประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทแบล็คแคนยอน (ประเทศไทย)จำกัด บอกว่าปัญหาใหญ่ที่เจอผลกระทบหลังจากต้องปิดชั่วคราวช่วงการระบาดแรก ๆ นั่นก็คือพนักงานกลับบ้านไป ไม่กลับมาทำงานอีก จำนวนพนักงานที่จะให้บริการแต่ละสาขาก็หายไป การบริการจึงอาจไม่เพียงพอในช่วงที่เร่งด่วน เป็นปัญหาในการทำธุรกิจด้านนี้ จึงลองนำเซอร์วิสโรบอทมาใช้งาน อย่างแรกได้สีสันใหม่ อย่างที่สอง เห็นความต่าง หุ่นยนต์ให้บริการได้ตลอดเวลา ไม่มีบ่น ไม่มีเหนื่อย อย่างที่สาม มีความสะอาดปลอดภัยในการให้บริการ ในสถานการณ์โควิด-19 เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ส่วนหนึ่ง
ซึ่งหุ่นยนต์ยังมีโอกาสทำอะไรได้อีกเยอะเช่น เข้าไปช่วยในครัวในการปรุงอาหาร เหมือนที่ต่างประเทศเริ่มใช้งานกันแล้ว หรือให้หุ่นยนต์ไปเดินส่งของพื้นที่ต่าง ๆ ก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งคิดว่าตรงนั้นคงเป็นสเต็ปถัดไป ที่กำลังรอเทคโนโลยีที่พัฒนาร่วมกันในอนาคต แม้แต่โดรนที่ตอนนี้ต่างประเทศ ใช้ส่งอาหารผ่านโดรนได้แล้ว
•
เชื่อว่าความสามารถของคนรุ่นใหม่ มีความพร้อมที่จะต่อยอดด้านเทคโนโลยีไปได้ไกลกว่านี้ เพียงแต่ตอนนี้งานวิจัยที่ออกมา จำเป็นแล้วที่ภาครัฐต้องส่งเสริม ผลักดัน ไม่ปล่อยวางอยู่บนหิ้ง ต้องถูกนำมาใช้งานจริง ๆ มีเงินสนับสนุนจริงจัง เพื่อให้เทคโนโลยีที่ดีจากฝีมือคนไทย ได้ก้าวสู่ตลาดเทคโนโลยีได้มากขึ้น พอที่จะแข่งกับตลาดโลกได้ก็จะดีมาก
นางสาวกัลยาณี คงสมจิตร ประธานกรรมการ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ บอกว่า ปัจจุบันแน้วโน้มที่ประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงานหนักมาก โดยจากงานวิจัยและสำรวจของตลาดที่ออกมาพบว่า อาชีพที่คนไม่อยากทำมากที่สุดคือ บริกร หรือพนักงานเสิร์ฟอาหาร เนื่องจากว่าเขารู้สึกว่าเขาเสี่ยง เป็นงานที่ค่อนข้างใช้เวลามาก และเหน็ดเหนื่อยพอสมควร ดังนั้นถ้ามีเครื่องมือที่ทันสมัย ปลอดภัย หรือมีผู้ช่วย ก็จะเป็นประโยชน์มาก
ผู้ประกอบการหลายราย เห็นถึงปัญหานี้จึงมองไปที่ตัวช่วยในการแก้ปัญหา “หุ่นยนต์บริการ หรือเซอร์วิสโรบท” พร้อมแล้วที่จะต้องนำมาอุดช่องว่างของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่จะต้องเสี่ยง ต้องทำงานซ้ำ ๆ ในพื้นที่เขตอันตราย เราก็ไม่ควรใช้แรงงานของคนงานไปทำงาน ให้หุ่นยนต์บริการเข้าไปอยู่จุดเสี่ยงแทน งานเดินหน้าบุคลากรปลอดภัย และเพิ่มทักษะอื่นที่พนักงานจะสร้างประโยชน์ได้มากกว่าเดิม
สิ่งที่เรามองเห็น คือการที่เราต้องมีวิสัยทัศน์ แล้วมองว่าเทคโนโลยีวันนี้มาตอบโจทย์ช่วยเหลือ เพื่อนมนุษย์ เศรษฐกิจและประเทศเราไปได้อย่างไร ถ้าวันนี้เราไม่ใช้เทคโนโลยีมาเปิดเศรษฐกิจ เราทั้งหลายก็จะต้องอยู่กับเทคโนโลยีเดิมๆ หรือการทำงานแบบเดิม ๆ แน่นอนว่าการแข่งขัน เพื่อนบ้านเรา ประเทศอื่น ๆ เขาพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง หากเราไม่พัฒนาขึ้นมาแปลว่าเราจะต้องก้าวถอยหลังไปไกลก็ได้
TKK เราจึงไม่หยุดในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ปรับพื้นที่ของบริษัทให้มี Product showcase เกิดขึ้น ที่บริษัทเองก็เป็นสิ่งที่มาพัฒนาในการใช้งานในปัจจุบันในโรงงานอุตสาหกรรม และขยายต่อไปในภาคอุตสาหกรรมระดับประเทศแล้ว เช่น
- pick to voice
- Robot X
- Lucky Bot
- Greet Bot
- Mini Bot
- Next Gen Sgada
- Ultra wide band
- Cira Core
- Bin picking systems
อีกสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างภูมิใจ “AI Voice” เป็นระบบสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย พัฒนาโดยนักวิจัยคนไทยของเนคเทคสวทช. ที่พัฒนามากว่า 20 ปี TKK นำเอา AI Voice ภาคภาษาไทย มาทำเรื่อง Cross Innovation ทำให้ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในโรงงาน ได้ใช้ voice นี้มากขึ้น voice นี้เป็นภาษาไทย สั่งการโดยคนไทย เสียงของคนไทย เทคโนโลยีนี้ได้ไปต่อยอดทำงานร่วมกับบริษัท Mitsubishi Corporation ซึ่ง TKK ยังพัฒนาต่อได้เป็นระบบNext Gen Sgada ตอบโจทย์ในด้านของ Sgada ที่รวบรวม Monitoring Control System ผ่านเสียง โดยมีผู้ช่วยเป็นคนไทย แต่ผู้ช่วยนี้เป็นผู้ช่วยในระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะรวบรวม บอก สรุปผลต่าง ๆ ออกมาให้ในรายวัน ของแต่ละโรงงานได้
อีกระบบที่คนไทยภูมิใจได้ Cira Core เป็น AI Processing Image เป็นการทำงานวิจัยจาก สจล. หรือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็น Platform AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่สำคัญที่สุดคือเป็นงานวิจัย AI ที่ทำโดยคนไทย และป้อนให้กับตลาดไทย เราทำผลิตภัณฑ์ออกมาชิ้นหนึ่งเรียกว่า Bin picking systems โดย Cira Core ถือเป็นสมองกลหลักของโปรแกรมนี้ ประกอบเชื่อมโยงกับส่วนต่างๆ กล้อง แขนกล หรืออุปกรณณืที่ต้องใช้งาน Cira Core ช่วยให้แขนกล หรือหุ่นยนต์ฉลาดขึ้น สามารถหยิบจับชิ้นงานแม่นยำ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะว่าไม่ต้องมีสายพาน ไม่ต้องมีการจัดเรียง ไม่ต้องมีการคงตำแหน่งไว้ ชิ้นงานมาสะเปะสะปะแบบไหนก็ตาม เมื่อกล้องมองเห็นระบบจะสั่งการให้หยิบจับได้ทันที Ford corporation ได้นำ Cira Core ไปใช้เป็น Ford wolrdwide ใช้ที่ฟอร์อาร์เจนตินา ใช้ที่ฟอร์ดแอฟริกาใต้ เป็นที่เรียบร้อย ทางฝั่ง TOYOTA Thailand ก็นำไปต่อยอดใช้ถึง TOYOTA ที่อเมริกาแล้วเช่นกัน
อีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวที่ภูมิใจนำเสนอมาก ๆ ก็คือ Robot X เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถยกของหนักได้ 500-1000 กิโลกรัมRobot X เองใช้งานมากขึ้น มีความต้องการหลากหลายมากขึ้นในคลังสินค้า หุ่นตัวนี้ที่ภูมิใจพิเศษเนื่องจากเป็นพัฒนาร่วมกันกับน้อง ๆ นักศึกษาฝึกงานที่มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในสาขาแมคาทรอนิกส์
•
นางสาวกัลยาณี บอกอีกว่า สิ่งที่เราเห็นก็คือว่าการเรียนการสอนในยุคสมัยที่พวกเราเคยเรียนมา มันอาจจะไม่ได้มาตอบโจทย์ในโลกยุคใหม่แล้ว หลาย ๆ ส่วน หลาย ๆ อย่างที่เปลี่ยนแปลงไป อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ทุกท่าน โดยเฉพาะกับผู้ปกครองทุกคน วันนี้เราต้องให้ลูก ๆ หลาน ๆ เราได้ explore ได้สำรวจโลกใบนี้ให้มาก ๆ ลองไปดูว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเฉพาะคุณครู อาจารย์ทั้งหลาย ที่แนะนำได้คืออาจจะได้ดูงานมากขึ้น ไปดูว่าที่ต่าง ๆ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ไหนเป็นอย่างไรบ้าง ถ้ามีโอกาส TKK เรียนเชิญทุกท่านมาสำรวจโลกพร้อมกัน ที่งาน Product Showcase ที่บริษัท TKK Corporation ซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เปิดโลกของเทคโนโลยี พาประเทศไทยไปต่อได้ในอนาคต
ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผอ.ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์ฯ บอกว่า เทคโนโลยีพวกนี้มีความสำคัญ ประเทศไทยเรามีคนที่มีความสามารถทางด้านเทคโนโลยี ที่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยแก้สถานการณ์ให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นเทคโนโลยีก็จะมีบทบาทเหมือนฮีโร่ จะมาทำงานในอุตสาหกรรม ให้ของที่ผลิตมีคุณภาพ มีต้นทุนไม่สูงมากนักสะอาด ถูกหลักอนามัย ไม่แพร่เชื้อโรค มีประโยชน์อีกหลายอย่าง
เดิมประเทศไทยไม่ได้โดดเด่นนักทางด้านเทคโนโลโยี การที่เราจะไปสร้างเทคโนโลยีเองแล้วแข่งกับต่างชาติ จะมีข้อเสียเปรียบอยู่หลายอย่าง การที่ใช้เทคโนโลยีอย่างคุ้มทุนเนี่ย เราอาจจะใช้ในเรื่องของการบูรณาการ คือเอาเทคโนโลยีของคนอื่นมาประกอบและต่อยอดให้เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับพื้นที่ของเรา คนไทยค่อนข้างเก่งเรื่องพวกนี้ มันมีการต่อยอดและเกิดขึ้นมาเป็น Innovation อีกหลายอย่าง คนไทยค่อนข้างมีความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดของใหม่ ๆ ขึ้นมาหลังจากนี้ เราสามารถที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ นี้ขึ้นมาได้ ปัจจุบันจะอยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ที่เราสามารถทำเอง ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์เราจะเอาของข้างนอกเข้ามา ในอนาคตเราอาจะสร้างได้เยอะขึ้น พัฒนาในมุมที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ แล้วเราอาจจะเป็นศูนย์กลางของทางอาเซียน ทางนี้น่าจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ต่อยอดสู่การยกระดับเศรษฐกิจประเทศดีขึ้นได้