X
รู้จักปีนักษัตร กระต่าย ตามคติแบบจีน

รู้จักปีนักษัตร กระต่าย ตามคติแบบจีน

2 ม.ค. 2566
6420 views
ขนาดตัวอักษร

ก้าวเข้าสู่ปีพุทธศักราช 2566 ปีเถาะ หรือปีกระต่าย เป็นความหวังว่าปีนี้จะเป็นเป็นปีแห่งความสดใส คล่องแคล่วคล่องว่องไว เหมือนกระต่าย 


ปีกระต่าย เป็นความเชื่อ ตามคติปีนักษัตร ถ้าเป็นแบบไทย การเปลี่ยนปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ และคติจีนที่ปีเถาะเริ่มช่วงตรุษจีน ปีกระต่ายแบบจีน อาจารย์ปริวัฒน์ จันทร ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีน เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า ปีเถาะหรือกระต่าย ถือเป็นนักษัตรลำดับที่ 4 (และตรงกับยามหม่าว หรือเวลา 05.00-07.00 เวลารุ่งสางของเช้าวันใหม่ตามคติของชาวจีน กระต่ายถือเป็นสัตว์แสนรู้ น่ารัก วิ่งเร็ว ปราดเปรียว และมีสัญชาตญาณในการระแวดระวังภัยที่ดี 


มีตำนานเกี่ยวกับกระต่าย เรื่อง “กระต่ายหยกบนดวงจันทร์” ครั้งหนึ่งมีเทพสามองค์ลงมาโลกมนุษย์ จำแลงกายเป็นชายชราผู้หิวโหย ไปขออาหารกับลิง หมาจิ้งจอก และกระต่าย ลิงและหมาจิ้งจอกไม่ยอมให้ กระต่ายสงสารชายชรา แต่ตนก็ไม่มีอาหารอะไรจะให้ จึงโดดเข้ากองไฟสละเนื้อของตนให้เป็นอาหารของชายชรา เทพทั้งสามชื่นชมในความดีของกระต่าย จึงไปพาอยู่กับเทพธิดาฉางเอ๋อร์-จันทราเทวี มีหน้าที่ตำยาวิเศษ ผู้คนเรียกกระต่ายบนดวงจันทร์ว่า “กระต่ายหยกตำยาวิเศษ”-อี้ว์ทู่เต่าเย่า” อาจารย์ปริวัตร กล่าว


อาจารย์ยังบอกอีกว่า ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง คติของชาวจีนภาคเหนือจะมีการบูชาเทพเจ้ากระต่ายหรือทู่เอ่อร์เหย่  โดยมีการปั้นตุ๊กตารูปร่างเป็นมนุษย์ แต่มีใบหน้าและหูยาวเหมือนกระต่าย สอดคล้องกับตำนานเทพธิดาฉางเอ๋อร์ส่งองครักษ์เทพเจ้ากระต่ายลงมาช่วยรักษาโรคระบาด เมื่อชาวบ้านพ้นภัย เทพเจ้ากระต่ายก็กลับคืนสู่ดวงจันทร์ ดังนั้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณงามความดีของเทพเจ้ากระต่าย จึงใช้ดินเหนียวปั้นเป็นรูปจำลอง ในคืนวันไหว้พระจันทร์ชาวบ้านจะนำรูปปั้นเทพเจ้ากระต่ายออกมาตั้งบูชา


รูปกระต่ายยังปรากฏอยู่ในภาพจิตรกรรมทางพระพุทธศาสนา ดังเช่นในหมู่ถ้ำโม่เกา เมืองตุนหวง มณฑลกานซู บนฝ้าเพดานของพุทธคูหาในสมัยราชวงศ์สุยต่อต้นราชวงศ์ถังหลายถ้ำ มี รูปซานทู่ก้งเอ่อร์ หรือกระต่ายสามตัวใบหูร่วมกัน วิ่งไล่ในดอกบัวที่ล้อมรอบด้วยเฟยเทียน (นางอัปสรา)


นักวิชาการจีนได้สันนิษฐานว่า กระต่ายทั้งสามตัวเป็นตัวแทนของอดีตชาติ ชาตินี้ และชาติหน้า เช่นเดียวกับใบหูของกระต่ายทั้งสามตัวที่ผูกติดกัน แสดงถึงชาติภพที่เชื่อมโยงถึงกันและกัน และการเวียนว่ายตายเกิดในทางพุทธศาสนา และยังมีอิทธิพลสู่งานศิลปะพื้นบ้านที่เป็นสัญลักษณ์มงคลของจีน แสดงถึงความสันติ ความเงียบสงบ และความก้าวหน้าของชีวิต และได้นำมาปรับใช้เป็นดวงตราไปรษณียากรจีนในปีกระต่ายปีค..2023 นี้อีกด้วย


เรื่องโดย อาจารย์ปริวัตร จันทร

ภาพและข้อมูล : เพจ  #pariwatchantorn 

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)