กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำประชาชนที่ใช้ชุดตรวจ ATK ไม่ควรทิ้งถังขยะทันที โดยแยกประเภทขยะชุดตรวจ ATK เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี และป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 เพราะขีดเดียว อาจเป็นผลลบปลอม โดยให้จัดการเหมือนกัน ไม่ว่า ATK จะขีดเดียว.. 2 ขีด.. แยกง่าย ๆ เป็น 2 ส่วน
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าว พบมีผู้ทิ้งชุดตรวจ ATK แบบที่ใช้แล้ว ลงถังขยะทั่วไป โดยไม่มีการผูกมัดถุงขยะให้มิดชิด หรือเขียนป้ายบอกเตือน ทำให้ประชาชนหวั่นเกิดการแพร่เชื้อตามจุดทิ้งขยะต่าง ๆ นั้น
เนื่องจากชุดตรวจ ATK ส่วนที่ปนเปื้อน สารคัดหลั่ง น้ำมูก หรือน้ำลาย ที่ใช้ทดสอบถือเป็นขยะติดเชื้อ ขอความร่วมมือประชาชนที่ซื้อชุดตรวจ ATK เพื่อนำมาใช้ตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง ไม่ควรทิ้งลงถังขยะทันที
ขอให้กำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งหากตรวจแล้ว... ไม่ว่าจะขึ้น 2 ขีด... หรือ ขีดเดียว... ควรจัดการเหมือนกัน เพราะอาจเป็นผลลบปลอม และอาจปนเปื้อนเชื้อโรคอื่น ๆ ด้วย
โดยวิธีการกำจัดที่ถูกต้อง ให้ฉีดพ่นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือ ราดด้วยผงฟอกขาว แล้วมัดปากถุงให้แน่น แยกทิ้งกับขยะทั่วไป **ถ้าทำได้** โดยการทิ้งควรแยกเป็น 2 ส่วน คือ
1. ขยะที่ไม่ได้ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง ที่ใช้ทดสอบ เช่น เอกสารกำกับชุดตรวจ และกล่องบรรจุภัณฑ์ ขยะประเภทนี้ ให้เก็บรวบรวมทิ้งถังขยะทั่วไป ที่มีฝาปิดมิดชิดได้เลย
2. ขยะที่ปนเปื้อน น้ำมูก น้ำลาย หรือ สารคัดหลั่ง ที่ใช้ทดสอบ เช่น ตลับ หรือแผ่นทดสอบ หลอดใส่น้ำยา ฝาหลอดหยดไม้ Swap ขยะประเภทนี้ ถือเป็นขยะที่มีความเสี่ยงสูง ต้องแยกจัดการจากขยะทั่วไป เพราะมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อโรคได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า แนวทางการจัดการ ATK ที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค แบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่
1. มีระบบ การเก็บขนขยะติดเชื้อ
กรณีในพื้นที่ หรือชุมชน มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อ เป็นประจำทุกวัน ใส่ถุงขยะสีแดง 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรก ที่สัมผัสขยะติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (Sodium hypochlorite) 5,000 ppm หรือเตรียมจาก น้ำยาฟอกขาว ผสมน้ำอัตราส่วน 1 : 10 หรือใช้ แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ...จากนั้นมัดปากถุงชั้นนอก ด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุง ด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง แล้วเคลื่อนย้ายไปไว้ ยังจุดพักขยะ ที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงาน ที่ทำหน้าที่ให้บริการ เก็บขนขยะติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำขยะติดเชื้อไปกำจัด อย่างถูกต้องต่อไป
2. เข้าไม่ถึง หรือ ไม่มีระบบ การเก็บขนขยะติดเชื้อ
กรณีในพื้นที่ หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ หรือ ระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อเข้าไม่ถึง ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น
+ ถุงใบแรก ที่บรรจุขยะติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ หรือ น้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ (น้ำยาฟอกขาว) จากนั้นมัดปากถุงให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุง ด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจาก ไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
+ ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อ บริเวณปากถุงอีกครั้ง ซึ่งขยะที่ผ่านการทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำไปกำจัดเป็นขยะทั่วไป โดยหลังจัดการขยะติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาด ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที
Backbone MCOT ขอเพิ่มเติมข้อมูล เกี่ยวกับความหมายของ ค่าหน่วยวัด PPM ดังนี้
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปราโมช เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ระบุข้อความไว้ในเว็บไซต์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เกี่ยวกับความหมาย ของค่าหน่วยวัด PPM ว่า หลายท่านที่มีความรู้อยู่แล้ว อาจตอบได้เลย แต่หลายท่าน อาจไม่แน่ใจในคำตอบ ในที่นี้ จะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
หน่วยความเข้มข้นของมลพิษน้ำ ที่นิยมใช้ และพบได้มาก มีอยู่ 2 หน่วย คือ
1. ppm. ย่อมาจาก “part per million” หรือ ส่วนในล้านส่วน หรือ 1/106 สำหรับในเรื่องของน้ำนี้ ย่อมหมายความถึง ส่วนของปริมาณสาร ในปริมาณของน้ำล้านส่วน
(จากตัวอย่างข้างต้นนั่น หมายความว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์ น้ำจากห้องปฏิบัติการ พบว่า มีปริมาณทองแดง เท่ากับ 0.5 ส่วน ในน้ำล้านส่วน หรือในน้ำล้านส่วน มีปริมาณทองแดงอยู่ 0.5 ส่วน)
2. mg/l ย่อมาจาก “milligram per liter” หรือ มิลลิกรัมต่อลิตร สำหรับในเรื่องของน้ำนี้ ย่อมหมายถึง ปริมาณสาร (มีหน่วยเป็นมิลลิกรัม) ในน้ำหนึ่งลิตร
(จากตัวอย่างข้างต้นนั่น หมายความว่า ค่ามาตรฐานน้ำดื่ม ขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้ในน้ำดื่ม มีปริมาณทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัมในน้ำหนึ่งลิตร หรือ ในน้ำหนึ่งลิตร ต้องมีปริมาณทองแดงไม่เกิน 1.0 มิลลิกรัม)
จากนิยามความหมาย ของหน่วยความเข้มข้น 2 หน่วยข้างต้น ในการเปรียบเทียบ จึงต้องปรับให้สองหน่วยนั้น สามารถเปรียบเทียบกันได้
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เว็บไซต์ สื่อมัลติมีเดียกรมอนามัย
https://multimedia.anamai.moph.go.th
เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
https://www.stou.ac.th
10 มี.ค. 2565
1390 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย