28 พ.ย.65 - ปลัด มท. ชู "บทบาทของกระทรวงมหาดไทย ขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด" เน้นย้ำสังคมไทยช่วยกัน Change for Good ให้โลกใบเดียวนี้คงอยู่อย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทของกระทรวงมหาดไทยในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับจังหวัด" ในการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดโดยมี นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องเร่งด่วนที่กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญเพื่อเป็นแกนนำร่วมหัวจมท้ายกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมผลักดันให้เกิดการ Change for Good สร้างสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับโลกใบเดียวนี้ของพวกเราทุกคน
การที่จะช่วยลดโลกร้อน จะเป็นส่วนหนึ่งในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งมันจะยั่งยืนได้เราต้องมุ่งมั่นขับเคลื่อนในทุกบริบทของการทำงาน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Win - Win ทั้งชีวิตความเป็นอยู่และสภาวะแวดล้อม เพราะพี่น้องประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี อากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งการแปรปรวนของสภาวะอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้เป็นดัชนีชี้วัดสำคัญที่ท้าทายพวกเราทุกคนในการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนได้อย่างไร
ทั้งนี้ “คนมหาดไทย” พร้อมที่จะเป็นพันธมิตรที่ดีและเอาจริงเอาจังในการลดสภาวะโลกร้อน สร้างชีวิตของผู้คนให้อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี เพื่อให้โลกใบเดียวนี้ของเรามีอายุยืนยาว เป็นโลกที่สวยงาม และมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับลูกหลานไม่รู้อีกกี่ร้อยรุ่นของเราในอนาคตได้มีโลกใบที่สวยงามนี้อยู่อาศัย
ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้ประกาศเจตนารมณ์เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนกับสหประชาชาติประจำประเทศไทย มุ่ง Change for Good ทำให้โลกใบเดียวของทุกคนมีอายุยืนยาวตราบนานเท่านาน ด้วยแนวคิด “76 จังหวัด 76 คำมั่นสัญญา เพื่อการพัฒนา เพื่อความเท่าเทียม เพื่อความยั่งยืน “โลกนี้เพื่อเรา””
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวอีกว่า กระทรวงมหาดไทยได้จับมือร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ “อบก.” ในด้านการบริหารจัดการขยะในครัวเรือนทั้งประเทศกว่า 25 ล้านตัน ซึ่ง 60-70% ของจำนวนดังกล่าวเป็นขยะเปียก โดยภายในเดือนธันวาคม 2565 ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 7,849 แห่ง จะรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนมี “ถังขยะเปียกลดโลกร้อน” โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้ถังขยะใบเดียวมีฝาปิด ตัดก้นถัง ขุดหลุมเป็นรูปลิ่ม เพื่อให้ก้นหลุมลึกกว่าก้นถัง ประมาณครึ่งศอกถึง 1 ศอก ประจำครัวเรือน ซึ่งจากค่าเฉลี่ย ใน 1 วันคนจะผลิตขยะเปียก 0.6 กรัมจากเศษอาหารเศษพืช เศษผัก เมื่อใส่รวมลงถังขยะเปียกลดโลกร้อนก็จะกลายเป็นปุ๋ยหมัก หรือสารบำรุงดินตามกฎหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อรวมแล้วจะได้ปริมาณร่วมล้านตันคาร์บอนเครดิตต่อปี
ทั้งนี้ อบก. ได้ทำการประเมินรับรองคาร์บอนเครดิตจากถังขยะเปียกลดโลกร้อนเรียบร้อยแล้ว ภายใต้ความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้ สำหรับในส่วนของบ้านที่ไม่มีพื้นที่ดิน ให้ใช้วิธีนำขยะเปียกรวมให้เทศบาลนำไปใส่ถังรวม ซึ่งขณะนี้การขับเคลื่อนคืบหน้าไปมากจนใกล้จะจำหน่ายคาร์บอนเครดิตได้ โดยไม่ได้ซีเรียสว่าจะได้เงินเท่าใด แต่ต้องเกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมที่ส่งผลดีกับโลกจริงๆ เพื่อประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะเรื่องนี้ No plan B because we have only one planet “เรามีเพียงแผนเดียวเท่านั้น คือ ทุกคนต้องช่วยกันทำให้สภาวะโลกร้อนลดลง และทำให้โลกสวยงามเพราะมีโลกแค่เพียงใบเดียวเท่านั้น
สิ่งสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อนงานด้านลดภาวะโลกร้อนเกิดผลที่เป็นจริงในชีวิตของพี่น้องประชาชน คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา มาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการทรงสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่าน “โครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง หรือ อารยเกษตร” เปรียบเสมือนการปฏิวัติสีเขียวครั้งใหญ่ที่ประชาชนจะอยู่รอดปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ซึ่งภายในแปลงโคก หนอง นา จะมีการปลูกต้นไม้ 5 ระดับก็คือ ป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เป็นการผสมผสาน ที่เล็งเห็นถึงปัจจัย 4 ทั้งหมด เช่น มีไม้เพื่อใช้ทำที่อยู่อาศัย ไว้ใช้สอย ไว้ทำเครื่องมืออุปกรณ์ทางการเกษตรและการปลูกที่มีไว้ใช้สำหรับเป็นอาหารและยารักษาโรค รวมถึงมีส่วนที่ไว้ค้าขายผลิตผลทางเกษตร
อีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ ทุกพื้นที่จะเป็น กสิกรรมธรรมชาติ ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมี ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และไม่มีการเผาทำลายซากเศษใด ๆ ทั้งสิ้น แต่เราจะเอาส่วนนั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก ใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดบริหารจัดการไม่ให้เหลือเป็นเศษขยะ รวมทั้งน้อมนำแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการปลูกผักสวนครัว ครบ 100% ทุกครัวเรือนภายในสิ้นปี 65 นี้ และน้อมนำโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ให้เพิ่มมากที่สุด เพื่อทำให้เด็กมีความรู้ มีความรัก ความหวงแหนต้นไม้
และช่วยกันกระตุ้นปลุกให้ช่างทอผ้า ผู้ประกอบการผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์ทุกประเภททั่วประเทศ น้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา งดใช้สีเคมีในการย้อมผ้า และหันมาผลิตวัตถุดิบที่จะใช้ผลิตผ้า เช่น ปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน และเลี้ยงไหม ปลูกต้นไม้ที่สามารถนำไปใช้ทำเป็นสีย้อมผ้าให้มากขึ้น เพื่อลดการเกิดของเสีย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และยังส่งผลดีต่อสุขภาพของคนย้อมผ้าและผู้สวมใส่ รวมถึงให้ทุกจังหวัดได้รณรงค์ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย ภายใต้ชื่อ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตามแนวพระดำริ ซึ่งมีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังช่วยทำให้ลดอุณหภูมิห้องลงอย่างน้อย 2 องศาเซลเซียสอีกด้วย
อย่างไรก็ตามชวน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ให้ผนึกกำลังทุกภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนภารกิจ Change for Good ให้โลกของเราให้เต็มที่ เพื่อสุดท้ายปลายทาง คือ คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของพี่น้องประชาชนทุกคน ขอให้รีบทำทันที เพื่อโลกใบเดียวของเราจะได้อยู่รอดปลอดภัยเป็นโลกที่สวยงามของลูกหลานเหลนเราตลอดไป