อาจารย์แพทย์ เผยความเป็นห่วง สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 วันนี้ (21 ส.ค. 2565) ทะลุ 600 ล้านคนแล้ว ยังไปต่อ พร้อมยก.. ไข้หวัดใหญ่สเปน โรคระบาดครั้งใหญ่ของโลกในอดีต เทียบระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน 2 ปีกว่า ทั่วโลกติดเชื้อไปกว่า 500 ล้านคน แต่จบ... แม้ปัจจุบัน จะมีความรู้ เทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางการแพทย์ ที่มีมากกว่าอดีตกว่า 100 ปี ขณะที่ นักวิชาการทั่วโลก ไม่ได้กังวลแค่เรื่อง ติดเชื้อ ป่วย และตาย แต่เป็นเรื่อง ปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รองหัวหน้าภาควิชา เวชศาสตร์ป้องกันและสังคม ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat วันนี้ (21 สิงหาคม 2565) กล่าวถึง สถานการณ์โควิด-19 ที่วันนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว ระบุว่า
ทะลุ 600 ล้านไปแล้ว...ใช้เวลาราว 2 ปี 9 เดือน โดยเมื่อวาน (20 ส.ค. 2565) ทั่วโลกติดเพิ่ม 624,379 คน ตายเพิ่ม 1,145 คน รวมแล้วติดไป 600,218,960 คน เสียชีวิตรวม 6,470,506 คน
5 อันดับแรก ประเทศที่ติดเชื้อสูงสุด คือ ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, รัสเซีย, อิตาลี และไต้หวัน เมื่อวานนี้ (20 ส.ค. 2565) จำนวนติดเชื้อใหม่ มีประเทศจากยุโรป และเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย และยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.69 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิต คิดเป็นร้อยละ 71.35
สำหรับ สถานการณ์ระบาดของไทย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ เปิดเผยว่า จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน 20 ส.ค. 2565) สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 6 ของเอเชีย แม้ สธ.ไทย จะปรับระบบรายงาน ตั้งแต่ 1 พ.ค. จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้น ลดลงไปมากก็ตาม ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบ ไข้หวัดใหญ่สเปน และ โควิด-19
ไข้หวัดใหญ่สเปนนั้น ถือเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดในอดีต โดยทำให้คนติดเชื้อไปราว 500 ล้านคน โดยใช้เวลาตั้งแต่ กุมภาพันธ์ 1918 (พ.ศ. 2461) ถึงเมษายน 1920 (พ.ศ. 2463) คิดเป็นเวลาราว 2 ปี 2 เดือน
ในขณะที่โรคโควิด-19... (ไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา และไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่) นั้น ก้าวข้ามไข้หวัดใหญ่ไปมาก โดยสถิติล่าสุด วันนี้ทะลุ 600 ล้านไปแล้ว โดยใช้เวลา 2 ปี 9 เดือน
ลองดูช่วงที่โควิด-19 แตะ 500 ล้านคนนั้น พบว่า ประมาณวันที่ 9 เมษายน 2022 หากประมาณระยะเวลา ก็จะพบว่า เคสแรกในโลก พบเมื่อ พฤศจิกายน 2019 (พ.ศ. 2562) นั่นคือ ใช้เวลาราว 2 ปี 5 เดือน
จะสังเกตว่า ระยะเวลาถึง 500 ล้านคนนั้น โควิด-19 พอ ๆ กับไข้หวัดใหญ่สเปน แต่อย่าลืมว่า ยุคสมัยต่างกันถึง 100 ปี โดยปัจจุบัน มีความรู้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ สุขอนามัย เทคโนโลยี และอื่น ๆ มากกว่าอดีตอย่างมาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในเรื่องของการติดเชื้อนั้น กลับไม่ต่างกันเท่าใดนัก เหตุผลหนึ่ง ที่พอจะอธิบายได้ คือ ความหนาแน่นประชากร และปัจจัยแวดล้อมทางสังคม อาทิ รูปแบบการใช้ชีวิต ที่มีความเสี่ยง
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ต่างกันมาก ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน คือ จำนวนผู้เสียชีวิต โดยยุคไข้หวัดสเปนนั้น คาดประมาณว่า มีคนเสียชีวิตราว 17 - 50 ล้านคน ในขณะที่ยุคโควิด-19 นั้น นับถึงช่วงที่ติดไป 500 ล้านคน มีเสียชีวิตไปราว 6.2 ล้านคน อันเป็นผลมาจาก ยาและวัคซีน รวมถึงวิทยาการด้านการแพทย์ และเทคโนโลยี
ที่น่ากังวล คือ โรคโควิด-19 ไม่ได้หยุดที่ 500 ล้าน แต่การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจาก การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส ลักษณะการใช้ชีวิต และการป้องกันตัวของประชาชน รวมถึงความไม่เป็นธรรม ด้านสุขภาพที่เกิดขึ้น และทำให้การเข้าถึงบริการที่จำเป็นนั้น ไม่ทั่วถึง ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ เช่น การตรวจโรค การดูแลรักษา การป้องกัน และกลไกการสนับสนุนทางสังคม
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันของไทยเรา การติดเชื้อใหม่ ในแต่ละวันยังสูงมาก จำนวนเสียชีวิต ก็ติดอันดับต้น ๆ ของเอเชีย และ Top 10 - 20 ของโลก มาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เราตระหนักว่า การป้องกันตัว ระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน ถือเป็นเรื่องจำเป็น
วงวิชาการทั่วโลก มิได้กังวล แค่เรื่องติดเชื้อ ป่วย และตาย แต่ปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID คือ Pandora box ที่ไม่อยากให้แจ็กพอตเกิดขึ้น เพราะยังไม่มีความรู้ตกตะกอนดีพอ และยังไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะเจาะจง
การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยง Long COVID ได้ราว 15% ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ การใช้ชีวิตโดยป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตร การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องนั้นเป็นหัวใจสำคัญ
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw
เว็บไซต์ : worldometers
https://www.worldometers.info/coronavirus
21 ส.ค. 2565
1090 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย