X
รับฟังด้วยใจ ใช้ศิลปะบำบัด ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย

รับฟังด้วยใจ ใช้ศิลปะบำบัด ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตาย

18 มี.ค. 2568
5560 views
ขนาดตัวอักษร

18 มี.ค.68 - สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งประเทศไทย ลงนามความร่วมมือ 6 หน่วยงาน นำความรู้ทางวิชาการ ร่วมกันป้องกันฆ่าตัวตาย แนะใช้วิธีช่วยป้องกัน “รับฟังด้วยใจ ปราศจากความคิดเห็น เปิดโอกาสให้คนทุกข์ใจได้ระบาย ,ใช้ศิลปะบำบัดเข้าคลี่คลายปมปัญหาในใจ”


ผศ.นพ. ปราการ ถมยางกูร นายกสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การฆ่าตายของไทย ว่าปัจจุบันพบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ อยู่ 5,000 รายต่อปี และในทุกครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของผู้ที่เสียชีวิตประมาณ 6 คน จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า ท้อถอย หดหู่ หมดกำลังใจจะทำงาน หรือประกอบอาชีพ และมีความคิดที่อยากจบชีวิตตาม ไม่ว่าจะเป็น พ่อ-แม่ ,สามี-ภรรยา,ญาติ ,คนรัก ,เพื่อนสนิท  ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์การจบชีวิตเกิดขึ้น ต้องการฟื้นฟูดูแลสภาพจิตของกลุ่มคนเปราะบางเหล่านี้ ทำให้เกิดพลังด้านบวก สามารถกลับมามีชีวิตสู้ต่อไป

ส่วนสาเหตุที่คนเลือกจบชีวิตเพราะส่วนใหญ่ ไม่มีความสุขกับชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และเคยมีความคิดที่จะฆ่าตัวมาแล้วก่อนหน้านี้ แต่ครั้งนี้กลับทำสำเร็จ ดังนั้นจึงต้องค้นหาอะไร หรือปัจจัยใด ที่ช่วยฉุดรั้งคนกลุ่มนี้ได้  และต้องเร่งเพิ่มความสุข เติมพลังใจด้านบวกให้สามารถอดทนผ่านวิกฤตของชีวิตไปได้ รวมถึงการใช้วิธี กลุ่มจิตบำบัด PRAKARN Model ลดความทุกข์ใจของตน ลดการโทษตนเอง ที่เคยฝันร้ายให้ สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติขึ้น ช่วยผู้ที่มีปัญหาได้ระบายความทุกข์ในใจอย่างน้อย 6 ครั้งขึ้นไป


​“ไม่มีใครอยากจบชีวิต ทุกคนล้วนรักชีวิต แต่เพราะไม่มีความสุขกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยพบว่าร้อยละ 10 ของคนที่ฆ่าตัวตายสำเร็จ เป็นคนที่เคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน และยังพบว่าคนในครอบครัวของผู้เสียชีวิตเองก็มีความคิดที่อยากจบชีวิตตาม”


สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตาย ได้ร่วมกับ 6 สมาคมฯและเครือข่าย ประกอบด้วย สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ,สมาคมสะมารินตันส์แห่งประเทศไทย ,สมาคมสายใยครอบครัว ,สมาคมสมาพันธ์ผู้ดูแลไทย และเครือข่ายก่อการต้านเศร้า ในการช่วยสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เปิดเผยได้ นำมาสู่การป้องกันและช่วยเหลือประชาชน และช่วยเยียวยาจิตใจของผู้ที่มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย กระบวนการลดการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นในสังคม


ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันทำได้ด้วย “การรับฟัง” เป็นการช่วยให้คนที่มีความทุกข์ได้ระบายออก และอีกหนทางหนึ่งคือการใช้ศิลปะบำบัด ในกรณีที่บางคนไม่อยากเปิดเผยเรื่องราวส่วนตัวแต่สามารถระบายออกได้ด้วยการวาดภาพ หรือการแต่งแต้มรูปภาพ ระบายสี ล้วนสะท้อนถึงความคิดและจิตใจของคน

ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ ในฐานะกรรมการสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตาย กล่าวว่า “การรับฟัง” เป็นเครื่องมืออย่างง่ายที่ช่วยคนที่มีทุกข์ใจ หรือความเครียด เสี่ยงฆ่าตัวตายได้ระบายความทุกข์ แต่เทคนิคการรับฟังนี้ จะแตกต่างจากทั่วไป คือ ต้องไม่ใส่ความคิดเห็น หรือประสบการณ์ส่วนตัวของคนที่ทำหน้าที่รับฟังลงไปในทันที เพื่อเปิดโอกาสให้ได้ระบายของทุกข์ในใจออก ต่อจากนั้นใช้ภาษาภายแสดงออกถึงความห่วงใย ช่วยให้คนทุกข์ใจรู้ว่า ไม่ได้อยู่ลำพัง มีคนใส่ใจ และคอยห่วงใย เช่น แววตาที่มองด้วยความอาทร หรือ การใช้มือโอบสัมผัสที่แผ่นหลัง หรือ โอบกอด อย่างเงียบๆ ไม่ต้องรีบที่จะเช็คน้ำตาให้ทันที เพราะกลไกของมนุษย์บางคนจะพยายามมีจิตใจเข้มแข็งไม่แสดงออก แต่สักระยะหนึ่งจะรู้สึกเหมือนได้ปลดปล่อยระบายออก และจะค่อยๆนิ่งสงบลง จากนั้นค่อยเริ่มทบทวนและหาทางออก แม้จะไม่มีวิธีหรือทางแก้ในทันทีแต่ได้ระบายความทุกข์ออก


“คนเศร้าหยุดไม่ได้ แค่นั่งอยู่ด้วยอย่างเงียบๆ หายใจไปด้วยกัน ปล่อยให้เค้าได้ระบายออกสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจ ก็ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ไม่ต้องรีบหาทางแก้ หรือรีบยื่นทิชชู่ให้ เพื่อให้เค้าหยุดร้อง แต่ให้เค้าได้ระบายความทุกข์ในใจ สักระยะจนหมด ใจก็จะเบาลง สบายใจขึ้น เพราะได้ระบาย ได้ยินเสียงความทุกข์ของตนเอง เกิดฉุกคิด  ว่าความทุกข์บางอย่างเราอาจเคยผ่านมา และตอนนั้นผ่านมาได้อย่างไร”


ผศ.ดร.เลิศศิริร์ บวรกิตติ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกรรมการสมาคมป้องกันการฆ่าตัวตาย กล่าวว่า ศิลปะบำบัดเป็นอีกที่หนึ่งวิธีของการบำบัดพฤติกรรม และเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของกลุ่มคนที่มีความทุกข์ทางใจ โดยการใช้ศิลปะช่วยทำให้เกิดความคิด และอารมณ์ด้านบวก หรือช่วยให้กลุ่มคนที่มีความทุกข์แต่ไม่อยากพูด เพื่อเปิดเผยเรื่องราว แสดงออกผ่านภาพวาดหรืองานศิลปะ ผ่านสีที่ระบายออก หรือรูปภาพ สติ๊กเกอร์ที่ปะติดปะต่อ ร้อยเรียงเกิดรูปภาพหรือเรื่องราวต่างๆ ก็สามารถทราบได้ทันที คนเหล่านี้คิดอย่างไร มีบุคลิกภาพอย่างไร


นอกจากนี้การใช้ศิลปะบำบัด ยังครอบคลุมไปถึง การพับนก หรือ การร้อยลูกปัดช่วยให้ถึงสมองและเป็นการบำบัดภาวะสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ในผู้สูงอายุได้อีกด้วย เพราะจะช่วยให้เกิดการจดจำแบบแผนในการพับ หรือ ในการเรียงร้อยเม็ดสีของลูกปัด


“การทำศิลปะบำบัด ไม่จำกัดว่าต้องวาดรูปสวย แต่ใช้ภาพที่วาด สีที่ระบายวิเคราะห์บุคลิกภาพของคน หรือ ปมในใจที่เค้าเหล่านี้ประสบพบเจอ แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการประเมิน 5-8 ครั้งขึ้นไป ถึงจะทราบผล และหากสงสัยว่ากลุ่มคนที่วาดภาพนี้มีความเสี่ยงหรือแนวโน้มที่จะมีอารมณ์รุนแรงสามารถประสานจิตแพทย์ ให้คอยประกบหรือให้การช่วยเหลือ หรือบอกกล่าวกับครอบครัวเพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป”

ทั้งนี้สมาคมป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งประเทศไทย ยังได้มอบรางวัลให้กับผู้ที่ร่วมประกวดคลิปวิดิโอสั้น TIKTOK “การป้องกันการฆ่าตัวตาย” ทั้งแบบประเภทนักเรียนและปวช, นักศึกษาและปวส. รวมถึงประชาชนทั่วไป ที่ได้รับราวัลชนะเลิศ ,รองชนะเลิศ ,รางวัลชมเชย และรางวัลขวัญใจกรรมการ ร่วม 87,000 บาท

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)