ประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ความเป็นไทย ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือเท่านั้น แต่เราสามารถถ่ายทอดผ่านรสชาติ และอาหารได้’ อย่างไอเดียสุดเจ๋งที่กลายเป็นไวรัลโด่งดังในช่วงข้ามคืน
เปิดไปในโลกโซเชียล ใครๆก็ต้องได้เห็น ‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’ จนกลายเป็น 1 ไอเท็ม เชิญชวนให้อยากไปถึงที่ เพื่อชิม และถ่ายรูปกับสัญลักษณ์ใหม่ของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ถือเป็นไอศกรีมฉาย Soft Power ไทย สู่สายตาชาวโลก
กว่าจะมาเป็น‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’ใช้เวลานานถึง 2 ปี!
‘น้ำตาล-ศิริญญา’ สาวMaketing คนเก่ง เจ้าของแบรนด์ Pop Icon และเจ้าของไอเดียไอติมลายกระเบื้อง ผู้ที่รักการกินไอศกรีม ฝันอยากขายไอศกรีม จึงผสานความภูมิใจในความเป็นไทย รังสรรค์เป็นเมนูไอศกรีมรสชาติแบบไทย กับศิลปะแบบไทย และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย
คุณน้ำตาล เล่าว่า กว่าจะมาเป็น ‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’แท่งนี้ เธอใช้เวลาวิจัย ออกแบบ พัฒนานานกว่า 2 ปี ด้วยความที่ไทยเป็นเมืองพุทธ การนำสัญลักษณ์หรือความหมายเชิงศาสนามาใช้ จึงมีความละเอียดอ่อน เเละต้องระมัดระวังอย่างมาก จนกระทั่งทุกอย่างลงตัว เริ่มขายวันแรกเมื่อ 3 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับที่ดีมาก ถูกพูดถึงอย่างล้นหลาม ทั้งจากชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนสินค้าหมดอย่างรวดเร็ว
ไอศกรีมแท่งนี้ เมื่อใครได้เห็น ต่างรู้สึกต้องตาต้องใจ ในรูปลักษณ์ที่แปลกตา และสวยงาม คุณน้ำตาล บอกว่า เธอได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘กระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ’
หากมองพระปรางค์วัดอรุณฯ จากไกลๆ นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้สังเกตถึงรายละเอียดที่สวยงามของกระเบื้องแต่ละชิ้น ที่มีลวดลายต่างกัน มีความหมายต่างกัน จึงได้ไอเดียนำลายจากกระเบื้องที่หลากหลาย มาผสมผสานจนกลายเป็นลวดลายไอศกรีม 3 มิติ เช่น ลายกระเบื้องประจำยาม ซึ่งจะอยู่บริเวณประตู ก็นำมาเป็นส่วนหนึ่งของลายไอศกรีม ที่แฝงความหมายคุ้มภัยคนรับประทาน ได้ความรู้สึกถึงความเป็นมงคล และนี่คือความตั้งใจของผู้ออกแบบ ที่ไม่ใช่แค่ขนม หวานๆเย็นๆ 1 แท่ง แต่ล้วนมีความหมายดีดีแฝงอยู่ แม้กระทั่งไม้ไอศกรีม เมื่อทานหมดแท่งแล้ว จะมีคติธรรม และข้อความให้กำลังใจ ให้ผู้อ่านรู้สึกดี และมีความสุข
‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’ มี 2 รสชาติ คือ
‘ชาไทย’ เครื่องดื่มขึ้นชื่อของไทย ที่ต่างชาติยกให้เป็น 1 ในเครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดติดอันดับโลก
‘กะทิอัญชันอบควันเทียน’ กะทิ วัตถุดิบหลักของอาหารไทย ที่ทำได้ทั้งอาหารคาวและหวาน รสชาติหวาน มัน มีกลิ่นหอมมะพร้าวเฉพาะตัว ประกอบกับ’ควันเทียน’ ภูมิปัญญาไทยที่มาตั้งแต่โบราณ เพิ่มความหอมให้ขนมไทยน่ารับประทานยิ่งขึ้น เพิ่มสีสันด้วย ‘ดอกอัญชัน’ จนได้สีม่วงละมุนตามธรรมชาติ หลอมรวมให้กลายมาเป็นไอศกรีมที่มีรสชาตคงความเป็นไทย เชื่อมโยงความเป็นวัดที่ต้องมีกลิ่นของเทียนบูชา และที่สำคัญรสชาติต้อง‘หวานน้อย’ จากความใส่ใจ อยากให้ไอศกรีมแท่งนี้ดีต่อสุขภาพ ไม่หวานเลี่ยนจนทานไม่หมด
‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’ คือสิ่งเชื่อมโยงกับศิลปะ เอกลักษณ์ วัฒนธรรมไทย
คุณน้ำตาล เผยว่า เป้าหมายของ ‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’นี้ คือ อยากโปรโมทให้นักท่องเที่ยว ได้เห็นถึง ICON หรือสัญลักษณ์ที่สำคัญของไทย อย่างพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ให้นักท่องเที่ยวได้รู้สึกเชื่อมโยงกับศิลปะ เอกลักษณ์ และวัฒนธรรมไทยมากขึ้น ยกระดับสินค้าที่ระลึกสร้างความประทับใจ เพิ่มเติมจากพวงกุญแจ หรือแม่เหล็กติดตู้เย็น มาเป็นไอศกรีมที่กินได้ รสชาตดี มีความหมาย และสวยด้วย “เพราะประวัติศาสตร์ และอัตลักษณ์ความเป็นไทย ไม่จำเป็นต้องถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือเท่านั้น แต่เราสามารถถ่ายทอดผ่านทางรสชาติ และอาหารได้” คุณน้ำตาล กล่าวทิ้งท้าย
‘ไอติมกระเบื้องวัดอรุณฯ’ จำหน่ายที่ร้าน “อรุณ คาเฟ่” ราคา 89 บาท
รายได้ส่วนหนึ่งสมทบถวายเพื่อการศึกษาและค่ารักษาพยาบาลแด่พระสงฆ์
ผู้เขียนบทความ : พจนารถ ธนะธนากุล