ลอยกระทงเพืี่ออะไร? ประวัติความเป็นมาของเทศกาลวันลอยกระทง คติที่มาเกี่ยวกับวันลอยกระทงมีอยู่หลายตำนาน ดังนี้
- การลอยกระทง เพื่อขอขมาแก่พระแม่คงคา
- การลอยกระทง เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าตามคติพราหมณ์ คือบูชาพระนารายณ์ซึ่งบรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร
- การลอยกระทง เพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้า ในวันเสด็จกลับจากเทวโลก เมื่อครั้งเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดา
- การลอยกระทง เพื่อบูชาพระพุทธบาท ของพระพุทธเจ้า ที่หาดทรายริมแม่น้ำนัมมทานที เมื่อคราวเสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ
- การลอยกระทง เพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ ซึ่งเป็นที่บรรจุพระเกศาของพระพุทธเจ้า
- การลอยกระทง เพื่อบูชาท้าวพกาพรหม บนสวรรค์ชั้นพรหมโลก
- การลอยกระทง เพื่อบูชาพระอุปคุตตะเถระ ซึ่งบำเพ็ญเพียรบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึกหรือสะดือทะเล
ประวัติการลอยกระทงในประเทศไทย
การลอยกระทงในเมืองไทย มีมาตั้งแต่ครั้งสุโขทัย เรียกว่า การลอยพระประทีป หรือ ลอยโคม เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงของประชาชนทั่วไป ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงเป็นรูปกระทงดอกบัวแทนการลอยโคม การลอยกระทงหรือลอยคมในสมัยนางนพมาศ กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานที ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา
การลอยกระทงเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท
รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ที่ไปปรากฏอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ คือ ครั้งหนึ่งพญานาคทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดในนาคพิภพ เมื่อพระองค์จะเสด็จกลับ พญานาคทูลขออนุสาวรีย์ไว้กราบไหว้บูชา พระพุทธองค์จึงทรงประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ที่หาดทราย ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที เพื่อให้บรรดานาคทั้งหลายได้สักการะบูชา การลอยกระทงที่มีความเป็นมาเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ ยังมีอีก 2 เรื่อง คือ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณีบนสวรรค์ และการลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธองค์ในวันที่เสด็จกลับจากเทวโลก
ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี
เมื่อครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จออกจากพระนครกบิลพัสดุ์ในเวลากลางคืนด้วยม้ากัณฐกะ พร้อมนายฉันทะมหาดเล็กผู้ตามเสด็จ ครั้นรุ่งอรุณก็ถึงฝั่งแม่น้ำอโนมานที เจ้าชายทรงขับม้ากัณฐกะกระโจนข้ามแม่น้ำไปโดยสวัสดีเมื่อทรงทราบว่าพ้นเขตกรุงกบิลพัสดุ์แล้ว เจ้าชายสิทธัตถะจึงเสด็จลงประทับเหนือหาดทรายขาวสะอาด ตรัสให้นายฉันทะนำเครื่องประดับและม้ากัณฐกะกลับพระนคร ทรงตั้งพระทัยปรารภจะบรรพชา โดยเปล่งวาจา “สาธุ โข ปพฺพชฺชา” แล้ว จึงทรงจับพระเมาลีด้วยพระหัตถ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทรงพระขรรค์ตัดพระเมาลี แล้วโยนขึ้นไปบนอากาศ พระอินทร์ได้นำผอบทองมารองรับพระเมาลีไว้ และนำไปบรรจุยังพระจุฬามณีเจดียสถานในเทวโลก
พระจุฬามณีตามปกติมีเทวดาเหาะมาบูชาเป็นประจำแม้พระศรีอริยเมตไตรยเทวโพธิสัตว์ซึ่งในอนาคต จะมาจุติบนโลกและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งก็ยังเสด็จมาไหว้ การลอยกระทงเพื่อบูชาพระจุฬามณี จึงถือเป็นการไหว้บูชาพระศรีอริยไตรยด้ว
ตำนานการลอยกระทงเพื่อต้อนรับพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากเทวโลก
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชจนได้บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลังจากเผยพระธรรมคำสั่งสอนแก่สาธุชนโดยทั่วไปได้ระยะหนึ่ง จึงเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงเทศนาธรรมโปรดพระพุทธมารดา ครั้งจำพรรษาจนครบ 3 เดือน พระองค์จึงเสด็จกลับลงสู่โลกมนุษย์ เมื่อท้าวสักกเทวราชทราบพุทธประสงค์ จึงเนรมิตบันไดทิพย์ขึ้น อันมี บันไดทอง บันไดเงิน และบันไดแก้ว ทอดลงสู่ประตูเมืองสังกัสสนคร บันไดแก้วนั้นเป็นที่ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลง บันไดทองเป็นที่สำหรับเทพยดาทั้งหลายตามส่งเสด็จ บันไดเงินสำหรับพรหมทั้งหลายส่งเสด็จ ในการเสด็จลงสู่โลกมนุษย์ครั้งนี้ เหล่าทวยเทพและประชาชนทั้งหลาย ได้พร้อมใจกันทำ การสักการบูชาด้วยทิพย์บุปผามาลัย การลอยกระทงตามคตินี้ จึงเป็นการรับเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากดาวดึงส์พิภพ (เป็นตำนานเดียวกับประเพณีการตักบาตรเทโวรับเสด็จพระพุทธองค์ลงจากดาวดึงส์)
การลอยกระทงเพื่อบูชาพระนารายณ์บรรทมสินธุ์
ยังมีพิธีการลอยกระทงตามคติพราหมณ์อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า คือ พระนารายณ์ที่บรรทมสินธุ์อยู่ในมหาสมุทร นิยมทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็น 2 ระยะ จะทำในกำหนดใดก็ได้
ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม
นิทานต้นเหตุเกี่ยวกับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นนิทานชาวบ้าน กล่าวถึงเมื่อครั้งดึกดำบรรพ์ มีกาเผือกสองตัวผัวเมียทำรังอยู่บนต้นไม้ในป่าหิมพานต์ใกล้ฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งกาตัวผู้ออกไปหากินแล้วหลงทางกลับรังไม่ได้ ปล่อยให้นางกาตัวเมียซึ่งกกไข่อยู่ 5 ฟองรอด้วยความกระวนกระวายใจ จนมีพายุใหญ่พัดรังกระจัดกระจาย ฟองไข่ตกลงน้ำ แม่กาถูกลมพัดไปทางหนึ่ง เมื่อแม่กาย้อนกลับมามีรังไม่พบฟองไข่ จึงร้องไห้จนขาดใจตาย ไปเกิดเป็นท้าวพกาพรหมอยู่ในพรหมโลก ฟองไข่ทั้ง 5 นั้นลอยน้ำไปในสถานที่ต่างๆ บรรดาแม่ไก่ แม่นาค แม่เต่า แม่โคและแม่ราชสีห์ มาพบเข้า จึงนำไปรักษาไว้ตัวละ 1 ฟอง ครั้งถึงกำหนดฟักกลับกลายเป็นมนุษย์ทั้งหมดไม่มีฟองไหนเกิดมาเป็นลูกกาตามชาติกำเนิดเลย กุมารทั้ง 5 ต่างเห็นโทษภัยในการเป็นฆราวาสและเห็นอานิสงส์ในการบรรพชา จึงลามารดาเลี้ยงไปบวชเป็นฤาษีทั้ง 5 ได้มีโอกาสพบปะกันและถามถึงนามวงศ์และมารดาของกันและกัน จึงทราบว่าเป็นพี่น้องกัน ฤาษีทั้ง 5 มีนามดังนี้
• คนแรก ชื่อ กกุสันโธ (วงศ์ไก่)
• คนที่สอง ชื่อ โกนาคมโน (วงศ์นาค)
• คนที่สาม ชื่อ กัสสโป (วงศ์เต่า)
• คนที่สี่ ชื่อ โคตโม (วงศ์โค)
• คนที่ห้า ชื่อ เมตเตยโย (วงศ์ราชสีห์)
ต่างตั้งจิตอธิษฐาน ว่าถ้าต่อไปจะได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ร้อนไปถึงมารดา ด้วยแรงอธิษฐาน ท้าวพกาพรหมจึงเสด็จมาจากเทวโลก จำแลงองค์เป็นกาเผือก แล้วเล่าเรื่องราวแต่ทนหลังให้ฟัง พร้อมบอกว่าถ้าคิดถึงมารดา เมื่อถึงเพ็ญเดือน 11 เดือน 12 ให้เอาด้ายดิบผูกไม้ตีนกา ปักธูปเทียนบูชาลอยกระทงในแม่น้ำ ทำอย่างนี้เรียกว่าคิดถึงมารดา แล้วท้าวพกาพรหมก็ลากลับไปตั้งแต่นั้นมา จึงมีการลอยกระทงเพื่อบูชาท้าวพกาพรหม แล้วเพื่อบูชารอยพระบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ส่วนฤาษีทั้ง 5 ต่อมาได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ดังนี้
- ฤาษีองค์แรก กกุสันโธ ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกกุสันโธ
- ฤาษีองค์ที่สอง โกนาคมโน ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระโกนาคมน์
- ฤาษีองค์ที่สาม กัสสโป ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระกัสสปะ
- ฤาษีองค์ที่สี่ โคตโม ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระสมณโคดม
- ฤาษีองค์ที่ห้า เมตเตยโย ได้แก่ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า พระศรีอาริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้า 3 พระองค์แรก ได้มาบังเกิดบนโลกแล้วในอดีตกาล พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 คือ พระพุทธเจ้าที่จะมาบังเกิดบนโลกในอนาคต ได้แก่ พระศรีอาริยเมตไตรย
ตำนานการลอยกระทงเพื่อบูชาพระอุปคุตต์
การลอยกระทงเพื่อบุชาพระอุปคุตต์นี้ เป็นประเพณีของชาวเหนือและชาวพม่า พระอุปคุตต์เป็นพระอรหันต์เถระหลังสมัยพุทธกาล โดยมีตำนานความเป็นมาดังนี้เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้โปรดให้สร้างพระสถูปเจดีย์และพุทธวิหารขึ้นทั่วชมพูทวีป มหาวิหารที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ “อโศการาม” ซึ่งตั้งอยู่ในเขตแคว้นมคธ หลังจากที่สร้างพระสถูปเจดีย์ถึง 84,000 องค์สำเร็จแล้ว พระเจ้าอโศกทรงมีพระราชประสงค์จะนำพระบรมสารีริกธาตุของสัมมาสัมพุทธเจ้า ไปบรรจุในในพระสถูปต่างๆ และบรรจุในพระมหาสถูปองค์ใหญ่ที่สร้างขึ้นใหม่มีความสูงประมาณครึ่งโยชน์ และประดับประดาด้วยแก้วต่างๆ ประดิษฐานอยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาให้ปาฎลีบุตร อีกทั้งต้องการให้มีการเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่เป็นเวลา 7 ปี 7 เดือน 7 วัน แต่ด้วยเกรงว่าพญามารจะมาทำลายพิธีฉลอง มีเพียงพระอุปคุตต์ที่ไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลเพียงท่านเดียวเท่านั้น ที่จะสามารถปราบพญามารได้ เมื่อพระอุปคุตต์ปราบพญามารจนสำนึกตัวหันมายึดเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งแล้ว พระอุปคุตต์จึงลงไปจำศีลอยู่ในสะดือทะเลตามเดิมพระอุปคุตต์นี้ไทยเรียกว่า พระบัวเข็ม ชาวไทยเหนือหรือชาวอีสานและชาวพม่านับถือพระอุปคุตต์มาก ชาวพม่าไม่ว่าจะมีงานอะไรเป็นต้องนิมนต์มาเช้าพิธีด้วยเสมอ ไทยเราใช้บูชาในพิธีขอฝนหรือพิธีมงคล ฯลฯ
เทศกาลลอยกระทงของชาวเหนือ (ยี่เป็ง) การลอยกระทงของชาวเหนือ นิยมทำกันในเดือนยี่เป็ง (คือเดือนยี่หรือเดือนสอง เพราะนับวันเร็วกว่าของเรา 2 เดือน) เพื่อบูชาพระอุปคุตต์ซึ่งเชื่อกันว่าท่านบำเพ็ญบริกรรมคาถาอยู่ในท้องทะเลลึก หรือสะดือทะเล ตรงกับคติของชาวพม่า
การลอยกระทงของชาวอีสาน (ไหลเรือไฟ) การลอยกระทงในภาคอีสาน เรียกว่าเทศกาลไหลเรือไฟจัดเป็นประเพณียิ่งใหญ่ในจังหวัดนครพนม โดยการนำหยวกกล้วยหรือวัสดุต่างๆ มาตกแต่งเป็นรูปพญานาคและรูปอื่นๆ ตอนกลางคืนจุดไฟปล่อยให้ไหลไปตามลำน้ำโขงดูสวยงามตระการตา นอกจากนี้ยังมีประเพณีลอยกระทงในประเทศต่างๆ เช่นที่เขมร จีน อินเดีย โดยมีคติความเชื่อและประวัติความเป็นมาตรงกันบ้างแตกต่างกันไปบ้าง
ขอบคุณที่มา : สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง