X
เที่ยวชม “วังปารุสกวัน” ชมความสวยงามพร้อมศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์

เที่ยวชม “วังปารุสกวัน” ชมความสวยงามพร้อมศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านพิพิธภัณฑ์

25 เม.ย 2567
1220 views
ขนาดตัวอักษร

ในช่วงหลังสงกรานต์แบบนี้ ทีมงาน Backbone MCOT พาไปชมวังให้สบายอารมณ์กันในงาน ใต้ร่มพระบารมี 242 ปี กรุงรัตนโกสินทร์' กับวังปารุสกวัน 

มาที่ประวัติกันก่อน วังปารุสกวัน หรือย่อว่า วังปารุสก์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพิษณุโลก ตัดกับถนนราชดำเนินนอก แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร  เป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นวังที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งต่อมาคือรัชกาลที่ 6 และ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


ด้านหน้าพระตำหนักจิตรลดา ภายในวังปารุสกวัน 

โดยตัววังปารุสกวันนั้นประกอบด้วย พระที่นั่ง 2 หลังสำคัญ คือพระที่นั่งจิตรลดา ที่เป็นที่ประทับของของรัชกาลที่ 6 ก่อนที่จะทรงครองราชย์ และพระที่นั่งปารุสก์ที่เป็นที่ประทับของ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


พระตำหนักจิตรลดา ภายในวังปารุสกวัน ที่ผู้คนมักจำสลับกับพระตำหนักสวนจิตรลดารโหฐาน ซึ่งเป็นที่ประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน


โมเดลจำลองพื้นที่วังปารุสกวัน แสดงพื้นที่พระตำหนักจิตรลดา และพระตำหนักปารุสกวัน


พระนิรันตราย


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ หม่อมคัทริน พระชายา และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรส


เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2446 โดยในวันที่ 30 ธันวาคม มีการจ่ายเงินค่าก่อสร้างกำแพงยาว 275 เมตร รวมเป็นเงิน 22,075 บาท ต่อมาวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2447 จ่ายค่าก่อสร้างกำแพงส่วนที่เหลืออีกเป็นเงิน 61,173 บาท แต่ยังไม่รวมค่ากระเบื้องหลังคา แรกเริ่มมีสถาปนิก 3 คนช่วยกันออกแบบ คือ นายมารีโอ ตามัญโญ นายสก็อตส์ และนายเบย์โรเลรี แต่ 2 คนป่วยระหว่างการก่อสร้าง นายตามานโญป่วยเป็นอหิวาตกโรคและต้องเดินทางกลับยุโรป ส่วนนายสก็อตส์ป่วยเป็นไข้ทรพิษและเสียชีวิต เหลือแต่นายเบย์โรเลรี รับผิดชอบ จนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2448 มีพิธีขึ้นพระตำหนักใหม่เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2449 และได้เสด็จประทับพระตำหนักนี้ตลอดพระชนมายุ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นแบบคลาสสิก ก่ออิฐถือปูน ตามแบบวิลลาของอิตาลี ก่ออิฐถือปูน ทาสีครีม เดิมตัวพระตำหนักมี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นท้องพระโรง และห้องรับแขก ห้องพักผ่อน ส่วนชั้นบนจัดเป็นบริเวณที่ประทับส่วนพระองค์ ห้องพระชายา ห้องพระบรรทม ห้องแต่งพระองค์ ห้องสรง และห้องทรงพระอักษร ต่อมามีการต่อเติมตัวพระตำหนักเพิ่มเป็น 3 ชั้น โดยชั้นบนจัดเป็นห้องพระบรรทม

ภายหลัง รัชกาลที่ 6 ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงยกพระตำหนักจิตรลดาให้อยู่ภายใต้ วังปารุสกวัน กลายเป็นพื้นที่เดียวกัน

ความสวยงามสถาปัตยกรรมในสกุลช่างอิตาลี ภายในพระตำหนักจิตรลดา

โดยชื่อวังปารุสกวันได้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มี 4 แห่งคือ สวนมิสกวัน สวนปารุสกวัน สวนจิตรลดาวัน และสวนนันทวัน

เมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถเสด็จทิวงคต เมื่อ พ.ศ. 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้โอนวังปารุสกวันกลับคืนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ความสวยงามของห้องทรงพระสำราญ (ห้องเต้นรำ) นอกจากนั้นยังเป็นที่ไว้พระโกศของพระบรมศานุวงศ์ หลายพระองค์ รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ด้วย


อ่างอาบน้ำและของประดับตกแต่งที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ชิ้นหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 วังปารุสกวัน กลายเป็นทำเนียบรัฐบาลและที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา แห่งแรกก่อนที่จะย้ายไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม และที่เป็นพำนักของ พระยาพหลพลพยุหเสนา ระหว่างเป็นนายกรัฐมนตรีและพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว จนถึงแก่อสัญกรรม นอกจากนั้นสมัยพล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังเคยใช้พื้นที่ของวังปารุสกวัน เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยการก่อสร้างอาคารใหม่ที่เรียกว่าอาคารกระจก เป็นสำนักงาน รวมทั้ง สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจเอเชียและตะวันออกไกล หรือ ECAFE ปัจจุบันพระที่นั่งปารุสก์ใช้เป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ  ส่วนพระที่นั่งจิตรลดาและอาคารกระจกกลายเป็นพิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ 

สำหรับภายในพระที่นั่งจิตรลดาปัจจุบันนั้น จัดแสดงพระราชกรณีกิจสำคัญของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ ที่มีต่อข้าราชการตำรวจ


ห้องทรงงานและท้องพระโรงรับแขกของรัชกาลที่ 6

วังปารุสกวันแห่งนี้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญหนึ่งของไทย นั่นคือ การประชุมเค้าโครงร่างเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ สมุดปกเหลืองของ ปรีดี พนมยงค์ โดยได้จัดประชุมคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงเศรษฐกิจ

เสาบันไดลายดอกรัก และลายนกฟินิกส์ สัญลักษณ์ของความอมตะ


สัญลักษณ์พระแสงตรีศูล ของรัชกาลที่ 6 ประดับอยู่บนบันได

นอกจากนี้วังปารุสกวันยังเป็นท้องเรื่องหลักของหนังสือขายดีอย่าง “เกิดวังปารุสก์” ซึ่งเป็นงานทรงนิพนธ์ใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ โอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ นั่นเอง เป็นหนังสืออัตชีวประวัติของพระองค์ มีเนื้อหาที่สอดแทรกเกร็ดประวัติศาสตร์ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ทรงเล่าถึงสภาพชีวิตภายในราชสำนักตั้งแต่ พ.ศ. 2450-2492 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมืองไทยในปลายรัชกาลที่ 5 ถึง รัชกาลที่ 9 รวมทั้งกล่าวถึงสภาพภูมิประเทศ การศึกษาและพระศาสนา นอกจากนี้ยังได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์ของประเทศอังกฤษ ตลอดจนพระราชพิธี พระราชวงศ์และประเพณีต่าง ๆ ของประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรปและที่สำคัญยิ่งคือ การเป็นผู้จัดการแข่งรถ ซึ่งสร้างชื่อเสียงและเกียรติยศมาสู่ประเทศไทย “เกิดวังปารุสก์” ยังทำยอดจำหน่ายติดอันดับขายดีหรือ "เบสท์เซลเลอร์" มียอดจำหน่ายนับหมื่นเล่ม ยังเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวต่างชาติในภาคภาษาอังกฤษว่า Brought Up in England และเรื่อง “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม” บทประพันธุ์ใน หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ ก็ใช้วังปารุสกวันเป็นท้องเรื่องเช่นกัน

ลำดับราชสกุลวงศ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกูฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาท กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ


พระตำหนักปารุสกวัน ในปัจจุบันเป็นที่ทำการของสำนักข่าวกรองแห่งชาติ 


หนังสือ "เกิดวังปารุสก์" "เจ้าชีวิต" และ “แคทยาและเจ้าฟ้าสยาม” มีจำหน่ายในอาคารกระจก

สำหรับอาคารกระจกนั้นเป็นพิพิธภัณฑ์กรมตำรวจ ที่มีการจัดแสดงประวัติความเป็นมาของตำรวจไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาจนปัจจุบัน รวมทั้งพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่แสดงความสำคัญของตำรวจในด้านต่าง ๆ 


พิพิธภัณฑ์ตำรวจภายในอาคารกระจก

ความสำคัญของวังปารุสกวันนั้น นอกจากจะเป็นอาคารพระตำหนักของบุคคลสำคัญ ยังผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ทุกพื้นที่ภายในวังปารุสกวันเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ แม้ปัจจุบันส่วนใหญ่ของพื้นที่จะเป็นประวัติศาสตร์ของตำรวจโดยส่วนใหญ่ แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะพบกับเรื่องราวผ่านสิ่งประดับตกแต่งต่าง ๆ ที่ยังเหลืออยู่ภายในวังปารุสกวัน 

วังปารุสกวันและพิพิธภัณฑ์ตำรวจ  เปิดให้บริการ : วันอังคาร - วันศุกร์ เวลา 10.00 - 16.00 น. เข้าชมฟรี


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล