X
ทำงานหนัก กินหวานคลายเครียด.. เสี่ยงเบาหวานโรคแทรกซ้อนรุนแรง

ทำงานหนัก กินหวานคลายเครียด.. เสี่ยงเบาหวานโรคแทรกซ้อนรุนแรง

18 พ.ย. 2565
1120 views
ขนาดตัวอักษร

โรคเบาหวานในมนุษย์เงินเดือนอยู่ใกล้ตัวเป็นอย่างมาก ทั้งการทานของหวานๆ ขาดการออกกำลังกาย ไม่ควบคุมน้ำหนัก และหากป่วยแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ก่อนที่จะสายเกินไป ควรเริ่มใส่ใจในการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น

คนทำงานหนักเกินไป เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุที่เห็นได้ชัด คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหารของหวาน ของมัน ของทอด โดยเฉพาะเมื่อทำงานหนัก เกิดความเครียด ร่างกายต้องการของหวานเติมเต็ม เพราะว่าสามารถบรรเทาความเครียดได้ ของหวานที่มีน้ำตาลสูง จะสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอล และอะดรีนาลีน ที่จะหลั่งออกมาในเวลารู้สึกเครียด เมื่อคุณเครียดมากจึงทานมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้ เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น แถมยังทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก

โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ในกระแสเลือด มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ อันเนื่องจากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง หากปล่อยไว้เป็นเวลานาน ก็จะทำให้ร่างกายเกิดโรคแทรกซ้อนต่ออวัยวะต่างๆ ได้ง่าย เช่น ตา ไต รวมไปถึงระบบประสาท 


โรคเบาหวานมีหลายประเภท สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ 

1.
เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้  

2. เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวการณ์ดื้ออินซูลิน 

3.เบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์ จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน 

สำหรับอาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย เหนื่อย อ่อนเพลีย ผิวแห้งเกิดอาการคันบริเวณผิวหนัง ตาแห้ง มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า หรือที่เท้า ร่างกายซูบผอมลงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ 


หากมีอาการเหล่านี้ บวกกับพฤติกรรมในการทานอาหาร ที่ไม่ค่อยระวังเรื่องแป้ง และน้ำตาล อาจสันนิษฐานได้ว่า กำลังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้สูง เพราะฉะนั้นควรรีบพบแพทย์ เพื่อการตรวจที่ละเอียด และทำการรักษาต่อไป การป้องกันโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคเบาหวานทุกชนิด คือ ต้องคอยหมั่นระวังระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลให้อยู่เกณฑ์ปกติ เน้นการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสารอาหารครบถ้วน มีกากใยสูง หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด 

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล