X
ไบโอเทค จับมือ BKGI พัฒนา ‘TMAO’

ไบโอเทค จับมือ BKGI พัฒนา ‘TMAO’

23 พ.ค. 2567
880 views
ขนาดตัวอักษร

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และแบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศเจตจำนง “ความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ใช้ในการคัดกรอง ป้องกัน และจัดการโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย”


นางสาวศุภมาส อิศระภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีประกาศความร่วมมือระหว่าง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BKGI เพื่อแสดงเจตจำนงความร่วมมือด้านนวัตกรรมที่ใช้ในการคัดกรองความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย ผ่านการนำตรวจ Trimethylamine N-oxide (TMAO) ในเลือด ในการประชุมนานาชาติด้านจีโนมิกส์ ครั้งที่ 19 (ICG-19) 


ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อนำการตรวจ TMAO ในเลือดมาใช้ในระบบสาธารณสุขไทย เพื่อคัดกรองบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดก่อนที่จะเกิดอาการ ทำให้สามารถให้การดูแลเชิงป้องกันที่เหมาะสมและเฉพาะบุคคลสำหรับผู้ที่ได้รับการระบุว่ามีความเสี่ยงสูงจากการตรวจ TMAO ซึ่งจะช่วยดูแลคุณภาพชีวิตของคนไทยในเชิงป้องกันและลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในระยะที่รุนแรงได้


ดร.เสาวลักษณ์ กล่าวต่อว่า “BKGI ได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมหลายอย่างกับ BIOTEC โดยเราทั้งสองสถาบันมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนคนไทยอย่างเป็นรูปธรรม การตรวจ TMAO ในเลือดเพื่อประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ จะเป็นเป้าหมายแรกที่จะนำนวัตกรรมเหล่านี้มาใช้ในการดูแลสุขภาพของคนไทยในเชิงป้องกัน ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของแนวคิด Future hospital หรือการดูแลสุขภาพแบบแม่นยำตั้งแต่ก่อนเกิดอาการ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในระดับบุคคลและระบบสาธารณสุขของประเทศ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทย และความมุ่งมั่นของทั้งสองหน่วยงานที่จะร่วมมือกันต่อไป” 

ปัจจุบันโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่นภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในประเทศไทย มีผู้เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวประมาณ 70,000 รายต่อปี โรคหลอดเลือดสมองมีผู้ป่วยกว่า 3.49 แสนราย เสียชีวิตกว่า 36,214 รายในปี 2566 คิดประเมินเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูกว่า 120,306 บาทต่อการนอนโรงพยาบาลหนึ่งครั้ง คำนวณได้เป็นค่าใช้จ่ายของภาครัฐไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี โดยค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมถึงค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดูแลประคับประคอง

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล