X
ไขคำตอบอุโมงค์ยักษ์ กทม. อยู่ไหน

ไขคำตอบอุโมงค์ยักษ์ กทม. อยู่ไหน

21 มี.ค. 2565
1690 views
ขนาดตัวอักษร

เชื่อได้ว่าทุกครั้งที่ฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายใน กทม. หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “อุโมงค์ยักษ์อยู่ไหน?” เลยจะขอพาไปดูว่า อุโมงค์ยักษ์ใน กทม. มีจริงไหม? อยู่ตรงไหน? หรือมีกี่แห่งแล้วบ้าง


กทม. เป็นที่ลุ่มต่ำ เมื่อมีฝนตกหนักจึงเกิดเป็นปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซากในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการระบายน้ำตามธรรมชาติ น้ำจะไหลจากท่อลงคลองและไหลต่อไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา อุโมงค์ยักษ์จึงเป็นอีก 1 วิธี ที่ กทม. นำมาใช้ช่วยผลักดันน้ำออกให้เร็วมากขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการดำเนินการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่แล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กม. มีประสิทธิภาพการระบายน้ำรวม 195 ลบ.ม.ต่อวินาที 


1.โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 30 ลบ.ม.ต่อวินาที อุโมงค์ใต้ดิน มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.40 ม. ยาวประมาณ 1.88 กม. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ตอนบนของ กทม. ริมคลองเปรมประชากร เขตบางซื่อ จตุจักร หลักสี่ และดอนเมือง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3.50 ตร.กม. 


2.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสันลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 45 ลบ.ม.ต่อวินาที และท่อระบายน้ำใต้ดินมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.60 ม. ยาวประมาณ 5.98 กม. ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เขตวัฒนา ปทุมวัน ราชเทวี พญาไท ห้วยขวาง และเขตดินแดง ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 26 ตร.กม.            


 3.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าวลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 50 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ บึงกุ่ม วัฒนา วังทองหลาง และเขตลาดพร้าว อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 5.11 กม.  มีขีดความสามารถในการระบายน้ำ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที 


4.โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มจากบริเวณถนนรัชดาภิเษกลอดใต้คลองบางซื่อไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกียกกาย พื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 56 ตร.กม. ได้แก่ พื้นที่เขตห้วยขวาง ดินแดง พญาไท จตุจักร ลาดพร้าว วังทองหลาง บางซื่อ และเขตดุสิต อุโมงค์มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 ม. ยาวประมาณ 6.40 กม. ก่อสร้างสถานีสูบน้ำตอนปลายอุโมงค์กำลังสูบ 60 ลบ.ม.ต่อวินาที


ภายในเดือน มี.ค.นี้ กทม.จะมีอุโมงค์ยักษ์เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เพื่อใช้ระบายน้ำจากบึงรับน้ำหนองบอนที่เป็นแก้มลิงรองรับน้ำจากเขตประเวศ สวนหลวง และพื้นที่ใกล้เคียง ผ่านทางอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใต้ดินที่ทอดแนวยาวไปตามลำคลองและถนน มีความยาวถึง 9.5 กม. จะช่วยการระบายน้ำในพื้นที่กว่า 85 ตร.กม.


และยังคงเดินหน้าพัฒนาก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์เพิ่มอีก 3 แห่ง  ได้แก่ 1.อุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากร แก้ไขน้ำท่วมพื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน หลักสี่ และจตุจักร 2.อุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบ แก้ไขน้ำท่วมในพื้นที่เขตสะพานสูง บึงกุ่ม คันนายาว และบางกะปิบางส่วน 3.อุโมงค์ระบายน้ำคลองทวีวัฒนา แก้ไขน้ำท่วมพื้นที่เขตทวีวัฒนา หนองแขม และบางแค  โดยยังมีการก่อสร้าง ท่อเร่งระบายน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน แก้มลิง สถานีสูบน้ำ แนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กทม. 


ทั้งนี้ คงต้องมาติดตามกันต่อไปว่า เมื่ออุโมงค์ยักษ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายได้จริงหรือไม่...


ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักประชาสัมพันธ์ กทม.


Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล