ศากหลักเมืองจังหวัดเพชรบุรี มีสองศาล ศาลปัจจุบันหรือศาลใหม่ อยู่บริเวณเขาวัง ส่วนศาลหลักเมืองเก่า อยู่บริเวณชานๆเมืองเพชรบุรี ใกล้กับโรงฆ่าสัตว์ แยกวัดลาด ศาลหลักเมืองเก่า แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่ยอมรับของผู้มาขอพร โดยเฉพาะการขอพรเกี่ยวกับหน้าที่การงาน ของข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากศาลหลักเมืองเป็น สถานที่สำคัญที่ถือเป็นชัยภูมิสำคัญของเมือง เป็นหลักของบ้านเมืองนั้นๆ ถือเป็นที่สถิตของเทวดาผู้รักษาบ้านเมืองนั้น จึงเป็นที่ศรัทธาของผู้มาขอพรเกี่ยวกับหน้าที่การงานของราชการจะสำเร็จสมความปรารถนา ความศรัทธานั้นเกิดจากความสมปรารถนา ถึงขนาดไปทำเพจเจ้าพ่อหลักเมืองเก่าเพชรบุรี โดยจะมีข้าราชการ หรือผู้ที่จะสอบเข้ารับราชการมาขอพรออยู่เนืองๆ
เมื่อเข้าไปในศาลหลักเมืองเก่าเพชรบุรี จะพบศาลเจ้าเก่าขนาดเล็ก สถาปัตยกรรมแบบจีนผสมไทย ตัวศาลเป็นอาคารชั้นเดียว คล้ายศาลจีน หลังคาทรงไทย ภายในมีเทวรูป เจ้าพ่อหลักเมืองพริบพรี หรือเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบุรี ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าศาลนี้เริ่มมีมาตั้งแต่เมืองใด แต่หากมองด้านบนของประตูทางเข้าศาล จะพบข้อความว่า จ้าวหลักเมือง "ศาลจ้าวนี้คนทั้งหลายได้พร้อมกันสร้างขึ้น เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๔๗๒"
องค์เทวรูปเจ้าพ่อหลักเมืองภายในศาลแตกต่างจาก หลักเมืองแห่งอื่น ที่ไม่ได้สร้างเป็นเสาหลักเมืองแต่เป็นเทวรูปทรงเครื่องประทับ รูปเทวดาประทับนั่ง สวมมงกุฎศิลปะอยุธยา ในศาลไม่มีเจว็ด มีแต่องค์รูปของท่านเจ้าพ่อเท่านั้น ดูภายนอกเหมือนเป็นเทวรูปปูนปั้นทรงเครื่อง แต่หากพิจารณาใกล้ๆ จะพบว่าองค์เทวรูปกะเทาะเห็นเนื้อในเป็นหินทรายแดง
คติการสร้างรูปเคารพ พระพุทธรูป หรือเทวรูป ด้วยหินทรายแดง เป็นวิธีการสร้างแบบขอม จึงเชื่อได้ว่าองค์เทวรูปเจ้าพ่อหลักเมืองเพชรบุรี ต้องมีความเก่าแก่มาก เก่าแก่กว่าตัวศาล และน่าจะมีมาก่อน เทวรูปหินทรายแดงถ้าจะกะอายุอย่างนั้นต้องมีสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือเก่ากว่านั้น ศาลหลักเมืองแห่งนี้ เมื่อตั้งมาเป็นเวลานานก็ทรุดโทรมลง ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จฯ มาเมืองเพชรบุรีได้ให้ทำการซ่อมแซมศาลและเทวรูป
ย้อนไป 50-60 ปีก่อน บริเวณนี้เป็นที่ดินป่าชานเมือง มีสภาพเป็นป่าเป็นที่เปลี่ยว ใกล้กันมีป่าช้าเก่าที่ฝังศพของชาวจีน แม้ที่บริเวณนี้จะดูน่ากลัว แต่ผู้ดูแลศาลไม่เคยได้รับอันตราย อยู่เป็นปกติ หากมาขอพรเพื่อทำการค้าขายมาจะค้าขายดีมีความเจริญ
สำหรับศาลหลักเมืองศาลใหม่ของเมืองเพชรบุรี อยู่บริเวณเขาวัง มี เสาหลักเมือง สร้างจากไม้ชัยพฤกษ์ เป็นที่เคารพของคนเมืองเพชรบุรีมาตราบเท่าปัจจุบัน