X
ครั้งแรก! เพาะเลี้ยง “ฉลามเสือดาว” StAR ประเทศไทย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ดาราโลกใต้ท้องทะเล

ครั้งแรก! เพาะเลี้ยง “ฉลามเสือดาว” StAR ประเทศไทย อนุรักษ์ ฟื้นฟู ดาราโลกใต้ท้องทะเล

19 พ.ค. 2568
150 views
ขนาดตัวอักษร

19 พ.ค.68 - กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ลุยจริงดูแลฉลามเสือดาว เปิดตัว “โครงการ StAR ประเทศไทย” เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาวใกล้สูญพันธุ์ เพิ่มโอกาสรอดฉลามเสือดาว ดาราแห่งโลกใต้ท้องทะเล


ทะเลไทย เป็นอีกเป้าหมายของนักดำน้ำมือใหม่ และมืออาชีพทั่วโลก ที่ต้องการมาดำดิ่งสู่โลกใต้ท้องทะเลของไทย เพื่อชมความหลากหลายทางธรรมชาติ เหล่าสัตว์น้ำใต้ท้องทะเลด้วยตาตัวเอง หนึ่งในนั่นที่เป็นดาราแห่งโลกใต้ท้องทะเลของไทย ก็คือ “ฉลามเสือดาว” แต่ปัจจุบันสถานะภาพของฉลามชนิดนี้ อยู่ในกลุ่มสัตว์ทะเลที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ จึงเป็นที่มาของโครงการความร่วมมือครั้งสำคัญ โครงการ StAR ประเทศไทย (Stegostoma tigrinum Augmentation and Recovery)


ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมเป็นเจ้าภาพเปิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ โครงการ StAR ประเทศไทย โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ร่วมกับภาคีความร่วมมือระดับนานาชาติ ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมประมง (ปม.) อควาเรีย ภูเก็ต โรงแรมเกาะไม้ท่อน องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) และองค์กรโอเชี่ยน บลู ทรี (Ocean Blue Tree) จัดทำขึ้น ณ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต และเกาะไม้ท่อน จ.ภูเก็ต เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรปลาฉลามเสือดาวอินโด-แปซิฟิก (Stegostoma tigrinum) สัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ของไทย ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงและปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติในถิ่นอาศัยเดิม 


ซึ่งทีมงานโครงการ StAR ได้เคลื่อนย้ายลูกฉลามเสือดาวจํานวน 9 ตัว อายุราว 1 ปี 2 เดือน ขนาดประมาณ 80-110 ซม. ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของอควาเรีย ภูเก็ต จากศูนย์ชีววิทยาทางทะเล ภูเก็ต ไปยังคอกทะเลที่สร้างขึ้นใหม่ที่เกาะไม้ท่อน ซึ่งจะเป็นแหล่งอาศัยชั่วคราวเพื่อให้ลูกฉลามปรับตัวก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และในอนาคตจะติดอุปกรณ์เพื่อติดตามตำแหน่งให้ลูกฉลาม เพื่อเพิ่มมาตรการคุ้มครองและติดตามอัตราการรอดหลังการปล่อยที่มีประสิทธิภาพ


ปลาฉลามเสือดาวมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแนวปะการัง และยังมีส่วนช่วยกระตุ้นธุรกิจกิจกรรมดำน้ำลึกเชิงท่องเที่ยวอีกด้วย เพราะเป็นปลาฉลามที่ผู้ชื่นชอบการดำน้ำอยากจะเห็น กรม ทช. ได้ร่วมกับภาคีความร่วมมือจัดทำโครงการนี้ขึ้น ที่ผ่านมากรม ทช. ได้ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ประชากรปลาฉลามเสือดาว ตลอดจนผลักดันให้ปลาฉลามเสือดาวได้รับการประกาศเป็นสัตว์คุ้มครอง และมีความภูมิใจที่ได้สนับสนุนการก่อสร้างคอกเลี้ยงในทะเลเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกฉลามก่อนการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ 


คุณเมธาวี จึงเจริญดี ผู้จัดการโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว องค์กรไวล์ดเอด กล่าวว่า “เนื่องจากประชากรของฉลามและกระเบนยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเป็นเรื่องที่ท้าทายเนื่องจากพวกมันมีการเจริญเติบโตช้า โตเต็มวัยช้า และมีอัตราการสืบพันธุ์ต่ำ การเพาะเลี้ยงและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ (rewilding) จึงเป็นความหวังสำคัญในการรักษาประชากรไว้และช่วยส่งเสริมอัตราการฟื้นตัวของประชากร นอกจากนั้น เรายังจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อลดภัยคุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อฉลามและกระเบน ตั้งแต่เรื่องการทำประมงเกินขนาดไปจนถึงการทำลายถิ่นอาศัย” 


โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรฉลามเสือดาว หรือ StAR ประเทศไทย เป็นโครงการระดับนานาชาติริเริ่มโดยองค์กร ReShark ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายความร่วมมือระดับนานาชาติที่ประกอบด้วยองค์กรอนุรักษ์กว่า 100 แห่ง รวมถึงสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ หน่วยงานภาครัฐ และพันธมิตรอื่น ๆ ที่มีเป้าหมายฟื้นฟูประชากรฉลามและกระเบนที่ใกล้สูญพันธุ์ทั่วโลก โดยเริ่มต้นขึ้นที่หมู่เกาะราชาอัมพัต ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรกของโลกเมื่อปี พ.ศ. 2565 และโครงการในประเทศไทยเป็นแห่งที่สอง โดยเริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการเมื่อปีที่แล้ว จากการสานต่อโครงการ “Spot the Leopard Shark – Thailand” โครงการวิทยาศาสตร์พลเมืองที่เชิญชวนให้นักดำน้ำร่วมส่งภาพถ่ายและวิดีโอการพบเห็นฉลามเสือดาวที่ถ่ายได้ในน่านน้ำไทย เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ประเมินจํานวน พฤติกรรมและแหล่งที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบัน โครงการนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ความสามารถในการดํารงอยู่ของประชากร เพื่อประเมินความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ของฉลามเสือดาวในประเทศไทย และคาดการณ์แนวโน้มการเพิ่มหรือลดลงของประชากร ผลจากการวิเคราะห์ดังกล่าวจะเป็นข้อมูลสําคัญในการกําหนดแนวทางการอนุรักษ์ในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการกําหนดพื้นที่สําหรับปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ จํานวนฉลามเสือดาวที่เหมาะสมต่อการปล่อย รวมถึงการกำหนดมาตรการติดตามหลังการปล่อยเพื่อศึกษาอัตราการรอด



อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)