X
รู้จัก โซวเฮงไถ่ บ้านโบราณที่ไม่ใช่แค่บ้านโบราณ 

รู้จัก โซวเฮงไถ่ บ้านโบราณที่ไม่ใช่แค่บ้านโบราณ 

1 ก.ค. 2565
1570 views
ขนาดตัวอักษร

เหตุกำแพงบ้านโบราณตลาดน้อยถล่มทับบ้านเช่าบริเวณใกล้เคียงเสียหาย จนเขตสัมพันธวงศ์ต้องประกาศให้โซวเฮงไถ่เป็นพื้นท่ีอันตราย โซวเฮงไถ่ บ้านโบราณอายุสองร้อยปี เป็นแลนด์มาร์คสำคัญของตลาดน้อย ใครมาตลาดน้อยต้องมาชม ถ่ายรูป จึงจะถือว่า ถึงตลาดน้อยจริงๆ  เด็กรุ่นใหม่เรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านดำน้ำบ้าง (โชวเฮงไถ่เป็นโรงเรียนสอนดำนำบ้านประตูแดง บ้านโบราณสองร้อยปีบ้าง  


คนตลาดน้อยรู้จักโซวเฮงไถ่ในนาม บ้านเจ้าสัวสอน ตั้งตามชื่อเจ้าของบ้านคนที่สอง พระอภัยวานิช (สอนมีเรื่องของบ้านหลังนี้ หลายเรื่องที่น่าสนใจ เช่น อายุที่แท้จริงของบ้านหลังนี้คือเท่าไหร่กันแน่ ? ทำไมเจ้าของบ้านหลังนี้ถึงเป็นผู้หญิง? (มากกว่าผู้ชาย)  บ้านหลังมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายเรื่อง ลองมาทำความรู้จักบ้านโซวเฮงไถ่ในมุมมองที่ท่านอาจยังไม่รู้จักกัน


เริ่มจากอายุของบ้านถ้าเคยพบและคุยกับคุณนายดวงตะวัน โปษยะจินดา (ขอเรียกว่าคุณป้าดวงตะวันนะครับคุณป้าจะเล่าว่าบ้านหลังนี้อายุมากว่า 200  ปี อาจเก่าน้องๆ อายุกรุงเทพฯ หรือมากกว่านั้น เคยมีเรื่องร่ำลือกันว่า โซวเฮงไถ่ เคยต้อนรับอาคันตุกะพิเศษ พระองค์หนึ่งท่านผู้นี้เป็นผู้มีอำนาจวาสนาสูงส่ง เป็นผู้เคยกอบกู้บ้านเมือง น่าจะเพราะบ้านหลังนี้เป็นบ้านของพ่อค้าจีน การมีผู้ที่เชี่ยวชาญการค้าสำเภาระดับที่ต่อสำเภาเป็นกองทัพได้จะเดินทางมาเยือน ก็น่าจะมีความเป็นไปได้เรื่องอายุของบ้าน เคยปรากฎในหนังสืองานศพของคุณเจงหลอง โปษยะจินดา สามีของคุณป้าดวงตะวัน เล่าไว้ว่า ... บ้านหลังนี้ สร้างมาตั้งแต่ ครั้งรัชกาลที่ 1 ต้นรัตนโกสินทร์  ... บ้านหลังนี้ปัจจุบัน ( อายุของบทความปี 2523 ) ได้ทำการปรับปรุงใหม่ คือ ปรับปรุงใต้ถุนบ้าน เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา และเขียนลวดลายที่ประตู  ... การปรับปรุงยังคงรักษาโครงสร้างของบ้านเดิมอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง .. จากบทความนี้บ้านนี้มีอายุ ไม่ต่ำกว่า 200 ปี อย่างน้อยอายุเท่ากับกรุงเทพฯ 


เจ้าของบ้านหลังนี้มีใครบ้าง ?  เจ้าของบ้านโซวเฮงไถ่ มี 7 ท่าน ท่านแรก พระอภัยวานิช (จาดหรือเจ้าสัวจาด ท่านที่สอง เจ้าสัวสอน หรือพระอภัยวานิช (สอนบุตรเจ้าสัวจาด ท่านที่สาม คุณหญิงพิศลสมบัติบริบูรณ์ (สินบุตรตรี เจ้าสัวจาด น้องสาวเจ้าสัวสอน ท่านที่สี่ คุณปุก บุตรีคุณหญิงพิศลสมบัติบริบูรณ์ (สิน)  ท่านที่ห้าคุณนายอุ่น โปษยะจินดา บุตรีคุณปุก  ท่านที่หกคุณเจงหลอง โปษยะจินดา หลานชายคุณปุก และท่านที่เจ็ดท่านปัจจุบัน คุณนายดวงตะวัน โปษยะจินดา ภรรยาคุณเจงหลอง 


น่าแปลกไหมทำไม ? มีสุภาพสตรีเป็นเจ้าของบ้านโดยเฉพาะช่วงท่านที่สามถึงท่านที่ห้า ถ้าอยากเข้าใจเรื่องนี้ลองหาหนังสือนายแม่ ของคุณพิมพ์ประไพ พิศัลยบุตรมาอ่านจะเข้าใจได้ชัดเจน แต่.. เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราจะอธิบายง่ายๆ  เริ่มด้วย การเปลี่ยนแปลงเจ้าของบ้านเป็นสุภาพสตรี เริ่มในสมัยเจ้าสัวสอน เหตุที่บ้านตกเป็นของคุณหญิงพิศลสมบัติบริบูรณ์ (สินเพราะเจ้าสัวสอนต้องการแยกไปปลูกบ้านของท่านเอง จึงยกบ้านให้น้องสาวซึ่งเป็นทายาทของเจ้าสัวจาดเช่นเดียวกับท่าน พอสิ้นคุณหญิงพิศลสมบัติบริบูรณ์ (สินท่านยกบ้านให้บุตรีเพียงคนเดียวคือ คุณปุก  ฝ่ายคุณปุกนั้นมีบุตรสองคน คือ หลวงนาวาเกณิกร กับคุณนายอุ่น หลวงนาวาเกณิกร เป็นช่างภาพประจำพระองค์รัชกาลที่ 5 แต่งงานกับนางนวม นามสกุลเดิม ตัณฑเศรษฐี ในสมัยรัชกาลที่ 6ได้รับพระราชทานนามสกุล โปษยะจินดา  คุณนายอุ่น เป็นน้องสาว จึงใช้นามสกุลตามพี่ชาย  จริงๆคุณนายอุ่นแต่งงานแล้วมีบุตรหลายคนแต่เสียชีวิตหมด คุณอุ่นจึงอาศัยอยู่ที่โซวเฮงไถ่กับคุณปุกมารดา จนคุณปุกสิ้นไป คุณอุ่นจึงรับมรดกบ้านหลังนี้ต่อจากมารดา เมื่อคุณอุ่นเสียชีวิต จึงยกบ้านให้หลานชายที่เป็นผู้ดูแลคุณอุ่น คือคุณเจงหลอง และเมื่อคุณเจงหลองจากไป บ้านจึงอยู่ในความดูแลของภรรยาคือคุณนายดวงตะวันแต่นั้นมา เรื่องบ้านโซวเฮงไถ่ในหนังสือ นายแม่ สนุกสนาน ลึกซึ้ง และอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลพ่อค้าจีนไว้เป็นอย่างดี ถ้าอยากได้ความเข้าใจเรื่องราวของโซวเฮงไถ่ลองหาอ่านดูครับ 


ความไม่ธรรมดาของบ้านหลังนี้นอกจากเก่าเกินสองร้อยปี บ้านหลังนี้มีอาณาเขตกว้างขวาง ที่ดินของเจ้าสัวจาดกินพื้นที่ไปถึงศาลเจ้าโรงเกือก และศาลโจวซือกง ในบทความหนึ่งของหนังสืองานศพคุณเจงหลองบอกว่า ศาลโจวซือกง อยู่ใกล้พื้นที่ของบ้านโซวเฮงไถ่ ตระกูลนี้เมื่อสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไปค้าสำเภาถึงเมืองจีน บ้านหลังนี้จึงมีตึกหลายหลัง สำหรับไว้เก็บสินค้าและเป็นที่อยู่ของลูกเรือ ตึกเหล่านี้มีทางเดินก็ยังมีแผ่นหินที่นำมาจากเมืองจีนเป็นหินแผ่นใหญ่ๆ ปูลาดเป็นทางเดิน หินเหล่านี้บรรทุกมาเป็นอับเฉาเรือปัจจุบันหินทั้งหลายถูกเทซีเมนต์ทับไปหมดแล้ว … ใกล้บ้านมีศาลเจ้าโจวซือกง เป็นศาลที่เคยใหญ่ที่สุดในเมืองไทย คนนิยมมากินเจ 10 วัน 10 คืนเรื่องกินเจนั้นยังมีอยู่ ส่วนความใหญ่นั้นอาจมีที่อื่นใหญ่กว่าแต่ไม่ได้ลดความสำคัญในการเป็นศาลเจ้าหนึ่งในใจคนไทยเชื้อสายจีนเลย เป็นที่พึ่งของคนที่เจ็บไข้และที่หมายในการทำบุญเทศกาลกินเจ


นอกจากโซวเฮงไถ่ จะเป็นคฤหาสน์ ความยิ่งใหญ่และความสำเร็จในการทำการค้าโดยเฉพาะในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-5 ทำให้โซวเฮงไถ่ มีฐานะเป็น ธนาคารส่วนตัว ก่อนจะมีธนาคารพาณิชย์แบบทุกวันนี้ โซวเฮงไถ่ เคยเป็น ธนาคารส่วนตัว หรือ  Private Bank ให้กู้ปล่อยสินเชื่อ โดยใช้ทองคำ เงิน เพชรพลอย เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ ถ้าจำมาไม่ผิดกำแพงด้านที่พัง สมัยก่อนเป็นห้องเก็บหลักทรัพย์ที่กล่าวถึง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงหน้าที่ไปแล้ว และใครเคยไปโซวเฮงไถ่ นอกจากถ่ายรูปบรรยากาศในบ้าน จึงไฮไลต์ที่คนไปถ่ายรูปมากที่สุด คือ หน้าบ้าน ประตูแดง โคมแดง โคมแดงหน้าโซวเฮงไถ่นั้น ไม่ธรรมดา ตระกูลของเจ้าของบ้านสืบเชื้อสายมาจากเจ้าเมืองในเมืองจีน เมื่อประกอบกิจการค้าขายจนร่ำรวยจึงได้รับโคมแสดงฐานะที่บ่งบอกถึงทายาทของเจ้าเมืองปรากฏเป็นโคมแดงหน้าบ้าน 


ขอเป็นกำลังใจให้ทายาทผู้ครอบครองบ้านโบราณตำนานตลาดน้อย และหวังแรงกำลังความร่วมมือกันช่วย บ้านโซวเฮงไถ่ กลับมาเป็นตำนานต่อไปอีกนานๆอย่างรุ่งเรืองมั่นคง



ข้อมูลจาก หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ คุณเจงหลอง โปษยะจินดา 


Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล