ถึงวันที่ 7 เมษายน ทีไร ต้องนึกถึงเหตุการณ์วันที่ 7 เมษายน 2310 วันที่กรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่า ในคำให้การชาวกรุงเก่าบันทึกไว้ว่า พม่าระดมเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ทำลายเข้ามาทางประตูที่พระยาพลเทพนัดหมายไว้ เข้าเมืองได้ทางประตูทางทิศตะวันออกในเวลากลางคือ ... ไล่ฆ่าฟันผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เอาไฟเผาร้านบ้านเรือนภายในพระนครเสียเปนอันมาก...เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ณ วันอังคาร ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 5 จุลศักราช 1128
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 7 เมษายน 2310 เรามักจะถูกสอนและอ่านเจอแต่เรื่องการเผา ทำลาย ลอก ขุด ตัด เจาะ กรุงศรีอยุธยาแต่ไม่ได้สนใจที่มาที่ไปหรือหลักฐานที่ควรเอามาพิจารณา อย่างเรื่องพม่าเผาเมืองที่เราอ่านตอนเด็กๆ ตรงกันข้ามกับหลักฐานการขุดค้นทางโบราณคดีอย่างที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่เราจำกันขึ้นใจว่า โดยเผา ลอกทองคำตอนกรุงแตก แต่หลักฐานใหม่ไม่พบร่องรอยชั้นดินที่ถูกเผา ถ้ามีการเผากันขนาดลอกทองลอกพระความร้อนต้องฝากร่องรอยไว้ในชั้นดินบ้างแต่ก็ไม่มี
ความทุกข์ของคนกรุงศรีอยุธยา หลังวันที่ 7 เมษายน 2310 ยังมีเรื่องราวของเชลยศึกที่ถูกกวาดต้อนไป คนที่ถูกจับมีตั้งแต่พระบรมวงศานุวงศ์ คนไทย บาทหลวง คนจีน แขก มอญ โดยนำไปไว้ที่ค่าโพธิ์สามต้น ก่อนจะนำไปเมืองพม่าด้วยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ นำไปทางด่านอุทัยธานี ส่วนข้าราชการ ชาวบ้าน ถูกนำไปทางใต้ ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ทั้งหมดถูกนำไปพบกันที่ เมืองเมาะตะมะ นอกจากคนแล้วบรรดาเครื่องศาตราวุธทั้งหลายโดยเฉพาะปืนใหญ่ถูกนำไปด้วย กระบอกไหนใหญ่มาก จับระเบิดทิ้งเสีย
กรุงศรีอยุธยาที่เราเห็นในวันนี้ถูกบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง แม้จะเป็นซากปรักหักพังแต่ก็ได้รับการดูแลทางวิชาการ เราชอบไปพระนครศรีอยุธยา เพื่อดูสิ่งที่เหลืออยู่แล้วฟังบรรยายความรู้ ว่าสิ่งที่หลงเหลือในวันนี้ ในวันที่รุ่งเรืองยิ่งใหญ่สวยงามเพียงใด คนฟังก็เอามาประกอบจินตนาการ นักนิยมประวัติศาสตร์ แนะนำว่า หากอยากสัมผัสถึงอยุธยาให้ถึงแก่ให้ไปเดินในเกาะเมืองในวันนี้ (7 เมษายน 2310) วันหนึ่งกลางฤดูร้อน จะเป็นวันที่อากาศเย็นสบายอย่างประหลาด บรรยากาศจะเหงาๆเศร้าๆ มีความรู้สึกเหมือนเมืองจะร้องไห้ ให้คนรุ่นหลังได้รำลึกว่า 255 ปีที่แล้ว เกิดอะไรขึ้นที่นี่ และประสบการณ์คนคนที่ชอบบรรยากาศวันนี้มักได้พบและเห็น “บางสิ่ง” หรือ “บางคน”ที่เป็นประจักษ์พยานของการเสียกรุง