X
ตำนาน “เชงเม้ง” เทศกาลแห่งความกตัญญู ประวัติจากโศกนาฎกรรม สู่เทศกาลในเดือนร้อนสุด ๆ ของไทย

ตำนาน “เชงเม้ง” เทศกาลแห่งความกตัญญู ประวัติจากโศกนาฎกรรม สู่เทศกาลในเดือนร้อนสุด ๆ ของไทย

4 เม.ย 2567
1140 views
ขนาดตัวอักษร

ในช่วงเมษายนแบบนี้ที่อากาศสุดแสนจะร้อนจนแทบไหม้ เหล่าคนไทยเชื้อสายจีนหลายคนต้องไปแสดงความกตัญญูในเทศกาลเชงเม้ง หรือ ชิงหมิง  


เชงเม้ง เป็นเทศกาลที่ลูกหลานจะแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณของบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้และปัดกวาดสุสาน กระทำกันในช่วงเดือนยี่ตามปฏิทินจันทรคติ คือหลังวันตงจื้อในช่วงเดือนธันวาคม นับไป 106 วัน โดยจะตรงกับช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 5 

สำหรับประวัติศาสตร์การกำเนิดของเทศกาลนี้นั้น มีกล่าวไว้หลายต้นกำเนิด หนึ่งในนั้นเล่าว่า นานมาแล้ว จีนเคยมีประเพณีที่เรียกว่าประเพณี “กินเย็น” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเทศกาล “งดก่อไฟ” เชื่อกันว่าเทศกาลนี้น่าจะมีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปี ตั้งแต่สมัยชุนชิวนั้น ภายในราชสำนักเกิดความวุ่นวาย อ๋องจิ้น “เสี้ยนกง” หูเบาเชื่อฟังคำยุยงใส่ร้าย จนสั่งคนไปสังหารองค์ชายเซินเซิง และสั่งคนตามล่าองค์ชาย ฉงเอ่อ ผู้น้อง


องค์ชายฉงเอ่อหนีออกจากรัฐจิ้น ระหกระเหินอยู่ต่างแดนนานนับ 10 ปีโดยมี “เจี้ยจือทุย” ขุนนางผู้จงรักภักดีตามรับใช้ไม่ห่าง ขุนนางเจี้ยถึงขนาดเคยชำแหละเนื้อที่ขาตนเองมาต้มเป็นน้ำแกงให้ผู้เป็นนายทานเมื่อยามขัดสน

จนเมื่อองค์ชายฉงเอ่อได้มีโอกาสกลับคืนสู่รัฐจิ้น และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นเจ้าครองรัฐนาม “จิ้นเหวินกง” เขาก็ค่อยๆ ลืมเลือนความดีความชอบของขุนนางตงฉินผู้นี้ไปเสียสิ้น ทำให้เจี้ยจือทุยบังเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และเสียใจเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจพามารดากลับไปยังบ้านเกิด และหนีขึ้นไปหลบอาศัยอยูในป่าบนภูเขา


เวลาล่วงเลยมาจนกระทั่งวันหนึ่ง จิ้นเหวินกง นึกขึ้นได้ว่าตนเองนั้นได้ลืมปูนบำเหน็จความดีความชอบให้แก่ขุนนางผู้จงรักภักดี ที่ยอมเฉือนเนื้อตนเองให้ท่านเสวย ให้บังเกิดความรู้สึกผิดเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เสด็จไปตามหาเจี้ยจือทุย ที่บ้านเกิดของเขาด้วยตนเอง แต่เพราะขุนเขากว้างใหญ่ยากตามหาตัว เพราะความที่รู้ดีว่า เจี้ยจือทุย เป็นลูกกตัญญู ดังนั้น จิ้นเหวินกง จึงได้ออกอุบายให้ทหารวางเพลิงเผาป่า เพราะเชื่อว่า เจี้ยจือทุยจะต้องแบกแม่หนีไฟป่าลงมาแน่ ๆ เพลิงนรกได้ลุกลามติดต่อกันนานถึง 3 วัน กินพื้นที่ไกลหลายสิบลี้ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เห็นเงาของเสองแม่ลูก กระทั่งเมื่อเพลิงสงบ ทุกคนจึงขึ้นเขาไปดู สิ่งที่พบกลับเป็นภาพของเจี้ยจือทุย และมารดากอดคอกันตายอยู่ใต้ต้นหลิว

ด้วยความรู้สึกเสียใจ อีกทั้งต้องการแสดงความเคารพและรำลึกถึง จิ้นเหวินกงจึงได้กำหนดให้วันเสียชีวิตของเจี้ยจือทุย เป็นวันรำลึกถึงเจี้ยจือทุย และด้วยเพราะเจี้ยเสียชีวิตในกองเพลิง จึงได้ให้ทุกคนงดก่อไฟ และกินเย็นแทน ดังนั้นจึงเรียกเทศกาลนี้ว่า “เทศกาลกินเย็น” หรือ “งดก่อไฟ” และเปลี่ยนชื่อภูเขาจากเหมียนซันมาเป็น “เจี้ยซัน” เพื่อรำลึกถึงเขาด้วย 


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคนโบราณนิยมถือปฏิบัติกิจกรรมตามประเพณีเทศกาลทานอาหารเย็นต่อเนื่องไปจนถึงวันเชงเม้ง นานวันเข้าเทศกาลทั้งสองก็รวมเป็นวันเชงเม้งวันเดียว และนานวันเข้าเทศกาลทานอาหารเย็นที่เคยได้รับความนิยมก็เริ่มถูกลืม

อีกตำนาน ช่วงปลายราชวงศ์ฉิน หลิวปัง และ ฌ้อป้าอ๋อง ต่างยุ่งกับการทำสงครามกัน จนสุดท้ายหลิวปังได้ครองแผ่นดิน และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮั่น หลิวปังเกิดคิดอยากกลับไปกราบไหว้บิดามารดรที่ล่วงลับของตน แต่เพราะก่อนหน้านั้น ช่วงบ้านเมืองอยู่ระหว่างศึกสงคราม ทำให้มีหญ้าขึ้นรก สุสานทั้งหลายก็กระจัดกระจายพังพินาศไป

แม้หลิวปังจะให้เหล่าขุนนางช่วยกันค้นหาก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นหลิวปังจึงได้ฉีกกระดาษและอธิษฐานว่า สุสานของบิดามารดาอยู่ที่ใด ก็ขอให้กระดาษที่โยนขึ้นฟ้าลอยไปตก ณ ที่นั้น โดยไม่ถูกลมพัดหาย


ด้วยความกตัญญูทำให้กระดาษลอยไปตกยังที่แห่งหนึ่ง กระทั่งหลิวปังได้ตามกระดาษไปก็พบชื่อป้ายสุสานของมารดาตน พร้อมได้รีบก่อสร้างสุสานให้กับบิดามารดาใหม่ และกำหนดให้ในช่วงเวลานี้ เป็นวันที่ต้องมากราบไหว้ที่สุสานเป็นประจำทุกปี จนภายหลังประชาชนจึงเริ่มต้นเอาอย่างและยิ่งในช่วงของราชวงศ์ฮั่น ลัทธิแนวคิดขงจื๊อก็เข้ามาเป็นแนวคิดประจำชาติจีน เทศกาลเชงเม้งยิ่งกลายเป็นเทศกาลประจำของชาติจีนเพราะขงจื๊อเน้นในเรื่องความกตัญญู 

ส่วนประเทศไทยทำไมเทศกาลนี้เราต้องไปยืนร้อน ๆ ตากแดด ก็เพราะว่าความจริงนั้นเทศกาลนี้อยู่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของประเทศจีน ที่เปลี่ยนจากฤดูหนาวมาเป็นฤดูใบไม้ผลิพอดี ในอดีตสมัยราชวงศ์ถังเทศกาลเชงเม้งเหมือนกับการไปคารวะบรรพบุรุษและไปเที่ยวชมวสันต์ จึงกลายเป็นเทศกาลท่องเที่ยวอีกด้วย แต่สำหรับประเทศไทยดันตรงกับช่วงที่ร้อนที่สุดพอดี ก็ต้องทนร้อนแสดงความกตัญญูกันต่อไป


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)