ทุกวันที่ 9 หลังวันตรุษจีน เรามักเห็นมีผู้คนแวะเวียนไปที่ศาลเจ้า โดยนำ เจดีย์ น้ำตาล หรือ ทึ้งถะ ของไหว้ รูปทรงเหมือนเจดีย์จีนสีขาว ไปด้วย ถามผู้ใหญ่ท่านเล่าสั้นๆว่าเขาไปไหว้ ทีกงแซ การไหว้ขอบคุณเทวดาฟ้าดิน ด้วยน้ำตาลปั้น (หล่อ) เป็นการเสริมสิริมงคลในเทศกาลตรุษจีน เป็นการไหว้ในวันที่ 9 เดือน 1 ถือเป็นวันเกิดเทพยดาฟ้าดิน ทีกง คือ เทพยดา ฟ้าดิน
ทึ้งถะ การไหว้เทวดาฟ้าดิน โดยถือคติ การให้ความเคารพไปถึงท้องฟ้า จึงใช้รูปแบบของ เจดีย์น้ำตาล เจดีย์ ทรง 8 เหลี่ยมทรงสูง รูปทรงของเจดีย์น้ำตาล มาจากความเชื่อโบราณ รูปพรรณสัณฐานของเจดีย์ทรงสูงเพื่อที่จะเชื่อมโยงกับฟ้า ส่วนน้ำตาล ถือเป็นของมงคล ที่มีความหมายถึง ความหอมหวาน ร่มเย็น ราบรื่น
ทุกวันนี้ การทำเจดีย์น้ำตาล ลดน้อยลงมาก โดยเฉพาะการทำตามกรรมวิธีโบราณ ทำให้เจดีย์น้ำตาลหาซื้อยาก แต่คงมีผู้รักษาการไหว้ตามประเพณีไว้ สำหรับ กรรมวิธีการทำเจดีย์น้ำตาล ด้วยวิธีดั้งเดิม เริ่มต้นด้วยการต้มน้ำใส่น้ำตาลทรายรอจนเดือดแล้วกวนจนได้ที่ พอได้ที่แล้วจะตีให้น้ำตาลฟู แล้วใส่น้ำมะนาว จากนั้นจะเทลงไปในบล็อกไม้แกะสลัก รอจนเย็นแกะบล็อกออกแล้วนำไปตบแต่ง ทำให้สวย เมื่อดูแล้วเป็นการรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมและให้ความรู้สึกสดชื่น
อาจสงสัยว่า ทีกงที่ไปไหว้นั้น คือใคร ทีกง แท้จริงแล้ว คือ เง็กเซียนฮ่องเต้ ราชาผู้เป็นประมุขแห่งสวรรค์ ตามคติความเชื่อทีกง เป็นผู้สร้างโลก และบันดาลธรรมชาติ รวมถึงชะตากรรมของมนุษย์ คติของจีน ทีกง แทนด้วย 4 สิ่งสักการะสูงสุดของคนจีน คือ ฟ้า ดิน พ่อ และ แม่ การไหว้ทีกง หรือทีกงแซ เกิดขึ้นทุกวัน วันชิวเก้า หรือ เก้าค่ำจีน หรือ วันที่เก้าหลังจากวันตรุษจีน ถือเป็นวันคล้ายวันกำเนิดของเง็กเซียนฮ่องเต้ หรือ ทีกง ขณะเดียวกันนี่คือการแสดงกตัญญูต่อสิ่งที่ให้กำเนิดโลกและให้กำเนิดมนุษย์
การไหว้ทีกงแซ ส่วนใหญ่ จะไหว้ตอนเช้า สามารถไหว้ได้ทั้งที่ศาลเจ้า หรือที่บ้าน ถ้าที่บ้านมีตะเกียงทีกง อาจใช้ที่โล่งในบ้านดาดฟ้านึก หรือไปศาลเจ้าง่ายที่สุด ของไหว้ ไม่ใช่ของคาว อาหารเจ ขนมจันอับ ผลไม้ เจดีย์น้ำตาล ถ้าไม่มีใช้น้ำตาลกรวด 1 ถุง น้ำชา 5 ถ้วย ธูปเทียน กระดาษไหว้
ในเทศกาลตรุษจีน นอกจากไหว้ตามปกติ ไหว้ทีกง ยังมีการไหว้สิงโตถั่ว ถั่วเป็นความหมายของธัญพืช ความสมบูรณ์งอกงาม อำนวยพรต่อสังคมเกษตรกรรมของจีน ร่วมชื่นชม ความงามของวัฒนธรรมแห่งปีใหม่จีนและมุมมองดีๆต่อสังคมด้วยการชมการสานต่อประเพณีความหวาน ทีกงแซ
** ขอขอบคุณ เครดิตภาพ จาก เพจร้านขนมเปี๊ยะง่วนฮะเซ้ง (เจ้าเก่าสะพานเหลือง)