กรมอนามัย แนะ
ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยระวังภัยหนาว โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฝ้าระวังตนเอง ลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ
จากการผิงไฟช่วงหน้าหนาว เช่น อันตรายจากควันพิษ บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุไฟไหม้
ไฟคลอก เป็นต้น เพื่อป้องกันตนเองและคนในครอบครัว
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์
รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากรายงานข้อมูลของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยา
แจ้งว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566
และจะมีอากาศหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วงเดือนธันวาคม 2566
ถึงช่วงเดือนมกราคม 2567 จะเป็นช่วงเวลาที่มีอากาศหนาวเย็นที่สุดสำหรับยอดดอยและยอดภู
รวมทั้งเทือกเขาจะมีอากาศหนาวถึงหนาวจัด
และจะสิ้นสุดฤดูหนาวประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ส่งผลให้บางพื้นที่จะมีอากาศหนาวเย็นเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจังหวัดในภาคเหนือ
และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
กรมอนามัยมีความห่วงใยประชาชน
ถึงแม้ว่าในปีนี้อุณหภูมิหนาวเย็นน้อยกว่าปีที่ผ่านมา
แต่ก็ต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงภัยหนาวและเตือนภัยเตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพจากภัยหนาว
เนื่องจากอาจเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียจากไฟไหม้บ้านเรือน การขาดอากาศหายใจจากการผิงไฟในเต้นท์ของนักท่องเที่ยว
เสียชีวิตการดื่มสุราคลายหนาว รวมถึงอุบัติเหตุ
เสียชีวิตจากเครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊สได้
จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยระวังภัยหนาว ป้องกันตนเองและคนในครอบครัว
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์
กล่าวต่อไปว่า ประชาชนควรดูแลสุขภาพตนเองในการรับมือภัยหนาวอย่างปลอดภัย
เพื่อลดความเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ
โดยนำเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มกันหนาวซักให้สะอาดแล้วตากแดดให้แห้งพร้อมนำออกมาใช้อย่างปลอดภัย
หากอุณหภูมิลดลงให้ดื่มน้ำอุ่น และกินอาหารปรุงสุกใหม่
ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ให้สำรวจเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงภัยหนาวในพื้นที่
ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก คนพิการทุพพลภาพ และสตรีมีครรภ์
พร้อมเร่งสื่อสารเตือนภัยเพื่อให้เตรียมพร้อมดูแลสุขภาพจากภัยหนาว
หลีกเลี่ยงการผิงไฟในที่อับอากาศเพื่อลดความเสี่ยงการเสียชีวิต รวมทั้งการเฝ้าระวังอัคคีภัยจากการเผาฟืน
จุดไฟเพื่อให้ความอบอุ่น ให้หมั่นตรวจตรา ทดสอบความปลอดภัย
และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สถานประกอบกิจการ
หรือครัวเรือนที่มีการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นแบบแก๊สอย่างเข้มงวด เพื่อให้ควบคุม
ป้องกันอันตรายจากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นดังกล่าว ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตของผู้ใช้งาน
“นอกจากนี้
การก่อไฟแต่ละครั้งจะมีควันไฟออกมา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เมื่อสูดดมเข้าสู่ร่างกาย
จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก
หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว และหากไม่ดับไฟให้สนิทอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟไหม้
ดังนั้น จึงควรก่อไฟในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
ขณะผิงไฟควรนั่งหรือยืนอยู่เหนือทิศทางลม
สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้บริเวณที่มีการก่อไฟ
รวมทั้งควรหลีกเลี่ยง
การนำเตาถ่านหรือตะเกียงน้ำมันก๊าดเข้าไปจุดผิงไฟในเต็นท์
เนื่องจากจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ
ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ เมื่อสูดดมก๊าซทั้ง 2
ชนิดนี้เข้าไปในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองทำให้เกิดอาการง่วง
หลับโดยไม่รู้ตัว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้หรือถูกไฟคลอกจนเสียชีวิต
ส่วนการป้องกันเพลิงไหม้บ้านเรือน
ก่อนประชาชนออกเดินทางท่องเที่ยววันหยุดเทศกาลขอให้ตรวจการปิดเตาแก๊สถอดปลั๊กไฟ
และดับธูปเทียนทุกครั้งหลังใช้งาน ไม่ทิ้งก้นบุหรี่
ไม่เผาขยะหรือวัชพืชใกล้วัสดุติดไฟง่าย ไม่ดื่มสุราแก้หนาว
เพราะสุราเป็นตัวเร่งให้ร่างกายสูญเสียความร้อน
ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลงจนอาจเสียชีวิตได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กรมอนามัย / 1 ธันวาคม 2566