X
แพทย์เตือนสายช็อปปิงระวังโรคเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบถามหา

แพทย์เตือนสายช็อปปิงระวังโรคเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบถามหา

19 ม.ค. 2566
2190 views
ขนาดตัวอักษร

แพทย์เชี่ยวชาญด้านกระดูกออกโรงเตือนคุณผู้หญิงสายสตรองสู้งานทั้งในและนอกบ้าน แถมเอ็นจอยกับการเดินช็อปปิง ให้เพลินอารมณ์ ระวังมีอาการโรคทางเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือจะมาเยือนให้เจ็บช้ำกันได้

ผศ.นพ.ชินกาจ บุญญสิริกูล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบุว่า ปัจจุบันนี้สามารถพบโรคเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มืออักเสบได้บ่อยมากในผู้หญิงอายุ 30-50 ปี ส่วนใหญ่เป็นในผู้ที่มีลักษณะงานที่ต้องขยับข้อมือไปมาทางด้านข้างซ้ำๆ เช่น ผู้ที่ทำงานซักผ้า ขัดถู สับเนื้อ หรือผู้ที่ต้องยกของโดยใช้แรงข้อมือมากๆ เช่น หิ้วถุงช็อบปิง ถือเอกสาร อุ้มเด็ก

โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากการบวมและหนาของเส้นเอ็นของนิ้วหัวแม่มือสองเส้น คือเส้นเอ็นที่ใช้เหยียดนิ้วหัวแม่มือและเส้นเอ็นที่ใช้กางนิ้วหัวแม่มือ (Extensor pollicis brevis และ Abductor pollicis longus) ซึ่งเส้นเอ็นทั้งสองนี้ถูกหุ้มด้วยปลอกเส้นเอ็นที่ทอดตัวอยู่บนด้านข้างของกระดูกข้อมือ ซึ่งสามารถคลำได้เป็นปุ่มยื่นออกมาทางด้านนอกของข้อมือทางฝั่งนิ้วหัวแม่มือ

โดยผู้ป่วยมีอาการปวดข้อมือทางด้านนิ้วหัวแม่มือ บางคนบวมและกดเจ็บเหนือข้อมือราว 1 เซนติเมตร ถ้าผู้ป่วยกางและเหยียดนิ้วหัวแม่มือเต็มที่จะทำให้มีอาการเจ็บที่ข้อมือมากยิ่งขึ้น แพทย์มีวิธีการตรวจโดยให้ผู้ป่วยงอนิ้วหัวแม่มือเข้าในอุ้งมือและกำนิ้วที่เหลือให้แน่น เมื่อแพทย์บิดข้อมือผู้ป่วยไปทางด้านนิ้วก้อย ผู้ป่วยจะปวดบริเวณข้อมือส่วนนั้นมากขึ้น


สำหรับผู้ป่วยมีอาการไม่มากสามารถใช้วิธีการรักษาโดยจำเป็นต้องไม่ผ่าตัด คือ

1. การรับประทานยาเพื่อลดการอักเสบของเส้นเอ็น โดยทั่วไปให้รับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่มีสารสเตียรอยด์ (NSAISs)

2. การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและบวมของเส้นเอ็น ได้แก่ การแช่พาราฟิน และการทำอัลตราซาวน์

3. การใส่อุปกรณ์ประคองข้อมือที่ยาวมาคลุมบริเวณนิ้วหัวแม่มือด้วย (Thumb spica splint) เพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือ ทำให้ได้พักการใช้งานเส้นเอ็นให้เส้นเอ็นไม่อักเสบมากขึ้น

4. การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าในเยื่อหุ้มเส้นเอ็นบริเวณตำแหน่งที่เป็น ซึ่งใช้ได้ผลดี และปลอดภัย อย่างไรก็ตามไม่ควรฉีดมากกว่า 2-3 ครั้ง เพราะมีความเสี่ยงที่เอ็นอาจจะขาดได้

แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จำเป็นต้องวินิจฉัยแนวทางรักษาประกอบกับการตัดสินใจของคนไข้

สำหรับการปฏิบัติตัวเมื่อมีอาการโรคเส้นเอ็นนิ้วหัวแม่มือ

1. หลีกเลี่ยงการทำงานที่ต้องขยับข้อมือด้านข้างซ้ำๆ เช่นการหยิบจับ หรือของหนักๆ เช่น ในการทำอาหาร การถือเอกสาร กระเป๋า การอุ้มทารก และ เพลาๆการช็อปปิงลดบ้าง

2. การประคบกระเป๋าน้ำร้อนหรือแช่มือในน้ำอุ่นจะช่วยให้อาการปวดลดลงได้

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)