X
เปิดเกณฑ์คำนวณ ส.ส.ต่อจำนวนราษฎร และ เงื่อนไขการแบ่งเขตเลือกตั้ง

เปิดเกณฑ์คำนวณ ส.ส.ต่อจำนวนราษฎร และ เงื่อนไขการแบ่งเขตเลือกตั้ง

13 ก.พ. 2566
2720 views
ขนาดตัวอักษร

หลังมีแกนนำพรรคการเมืองคัดค้านรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ในหลายพื้นที่ ทั้งในแง่ของจำนวนราษฎรและความเหมาะสมของพื้นที่ วันนี้ จึงขอเปิดเงื่อนไขตามกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่สำคัญให้ทราบกัน

โดยตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566  มาตรา 26 ได้มีการกำหนดวิธีคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดมีไว้ ด้วยวิธีการ ดังนี้

1.นำจำนวนราษฎรทั้งประเทศตามหลักฐานทางทะเบียนราษฎรในปีสุดท้ายก่อนมีการเลือกตั้ง มาตั้งหารด้วยจำนวน ส.ส. 400 คน โดยจำนวนที่ได้รับถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส. 1 คน

2.กรณี จังหวัดใดมีราษฎรไม่เกณฑ์ตามข้อ 1. ให้มีจำนวน ส.ส. 1 คน โดยถือให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

3.ถ้าจังหวัดใดมีจำนวนราษฎรเกินเกณฑ์ต่อ ส.ส. 1 คน ให้เพิ่มจำนวน ส.ส. อีก 1 คนเมื่อจำนวนราษฎรที่เกินมานั้นถึงเกณฑ์ตามจำนวนในข้อ 1.

4.หากได้จำนวน ส.ส.ตามแต่ละจังหวัดตามข้อ 2. และ 3. แล้ว ยังได้ ส.ส.ไม่ถึง 400 คน จังหวัดใดมีเศษจากการคำนวณเหลือมากที่สุด ให้เพิ่ม ส.ส.ในจังหวัดอีก 1 คน และเพิ่ม ส.ส.ในจังหวัดที่มีจำนวนราษฎรเหลือในลำดับรองไปจนครบจำนวน ส.ส. 400 คน

5.จังหวัดใดที่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ได้เกินหนึ่ง 1คน ให้แบ่งจังหวัดออกเป็นเขตเลือกตั้งตามจำนวน ส.ส.ที่มี โดยการแบ่งเขตจะต้องมีพื้นที่ติดต่อกัน และต้องจัดให้จำนวนราษฎรในแต่และเขตใกล้เคียงกัน

โดยมาตรา 27 ในกฎหมายฉบับเดียวกันกำหนดให้ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้งทุกจังหวัดล่วงหน้า ให้ประชาชนทราบล่วงหน้า โดยระบุพื้นที่ของเขตเลือกตั้งให้ติดต่อกันและแบ่งสรรให้จำนวนราษฎรแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ดังนี้

1.ให้รวมอำเภอต่างๆเป็นเขตเลือกตั้ง ให้พื้นที่ติดต่อกันเพื่อความสะดวกในการคมนาคม ถ้ารวมอำเภอทำให้ราษฎรมากหรือน้อยเกินไปให้แยกเอาตำบลออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรเพียงพอสำหรับเป็นเขตเลือกตั้ง แต่จะแบ่งแยกพื้นที่ตำบลออกจากกันไม่ได้

2.การแบ่งเขตหากทำให้ราษฎรมีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกันให้ดำเนินการแบ่งเขตตามรูปแบบของชุมชนที่ราษำรมีการติดต่อกันประจำเหมือนชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน สามารถติดต่อกันได้สะดวก และให้จำนวนราษฎรใกล้เคียงกันมากที่สุด

3.ต้องมีการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองและประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา

โดยเมื่อแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้ใช้เขตเลือกตั้งจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปนี้ กกต.ได้คำนวณจำนวนประชากรทั่วประเทศแล้วให้มี ส.ส. 1 คน ต่อราษฎร 165,428.5975 คน โดยใช้ข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 เป็นฐานในการคำนวณ โดย กกต. กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งมีผลต่างของจำนวนราษฎรระหว่างเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 




อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)