รวมเรื่องน่ารู้ของ “ดาวยูเรนัส” ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์สีฟ้าอ่อน ดาวเคราะห์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ในระบบสุริยะจักรวาล ที่คนไทยหลายคนอาจรู้จักในชื่อ “ดาวมฤตยู”
ดาวยูเรนัส เป็นดาวเคราะห์ที่มีวงโคจรห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 7 และเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ได้ชื่อมาจากเทพปกรณัมกรีกโบราณ “ยูเรนัส” หรือ “อูรานอส” (Οὐρανός) เทพแห่งท้องฟ้าและสรวงสวรรค์
ดาวยูเรนัส เป็น “ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์” (Ice giant) เช่นเดียวกับดาวเนปจูน มีองค์ประกอบทางเคมีที่มีแตกต่างจากดาวพฤหัสบดีและดาวเสาร์ที่เป็น “ดาวเคราะห์แก๊สยักษ์” (Gas giant) กล่าวคือ สารประกอบจากคาร์บอน ไฮโดรเจน ออกซิเจน ไนโตรเจน เช่น น้ำ มีเทน และแอมโมเนียมากกว่า ขณะที่พวกวัตถุน้ำแข็งขนาดเล็กในระบบสุริยะชั้นนอก มักประกอบด้วยสารประกอบเหล่านี้ในสภาวะเยือกแข็ง ทำให้ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูนถูกเรียกเป็น “ดาวเคราะห์น้ำแข็งยักษ์” แม้ว่ามันจะไม่มีพื้นผิวเป็นของแข็งเลย
ภาพ"ดาวยูเรนัส" หรือ "ดาวมฤตยู" ถ่ายโดยยานวอยเอเจอร์ 2 เมื่อปี ค.ศ. 1986
ทำไมดาวยูเรนัสมีสีฟ้า?
แก๊สมีเทนในบรรยากาศชั้นบนของดาวยูเรนัส เป็นตัวดูดกลืนแสงสีแดงในแสงอาทิตย์ ทำให้ดาวยูเรนัสปรากฏเป็นสีฟ้า ตามแสงสะท้อนออกมา
ดาวเคราะห์ที่หนาวเย็นที่สุดในระบบสุริยะ
บนดาวยูเรนัส มีบรรยากาศที่หนาวเย็นที่สุด คือ มีอุณหภูมิ -224 องศาเซลเซียส
เคยมียานเพียงลำเดียวที่ได้สำรวจดาวยูเรนัส
ในปัจจุบัน (2566) เคยมีแค่ “ยานวอยเอเจอร์ 2 (Voyager 2)” ของสหรัฐฯ เท่านั้น ที่เฉียดเข้าใกล้ดาวยูเรนัสเมื่อวันที่ 24 มกราคม ค.ศ.1986 (หลังจากที่ส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1977)
ระหว่างที่ยานวอยเอเจอร์ 2 เข้าใกล้ดาวยูเรนัสได้ตรวจพบดวงจันทร์เพิ่มเติม 11 ดวง รวมถึงวงแหวนส่วนหนึ่ง (นักดาราศาสตร์ค้นพบวงแหวนของดาวยูเรนัสจากการสังเกตการณ์บนโลกก่อนหน้านี้) วัดความยาวนานของคาบการหมุนรอบตัวเองครบรอบที่ 17 ชั่วโมง 14 นาที ศึกษาบรรยากาศและสนามแม่เหล็กของดาวยูเรนัส รวมไปถึงการถ่ายภาพกลุ่มดวงจันทร์ขนาดใหญ่ของดาวยูเรนัส ค้นพบเครือข่ายหุบเหวซับซ้อนบนดวงจันทร์มิแรนดา (Miranda) ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่าเกิดจากการที่ดวงจันทร์ดวงนี้เคยแตกออกก่อนสสารที่หลุดออกไปกลับมารวมกันอีกครั้ง
ดาวยูเรนัสมีดวงจันทร์บริวารทั้งหมด 27 ดวง
ปัจจุบัน (8 มีนาคม 2023) ดาวยูเรนัสมีจำนวนดวงจันทร์บริวารที่ยืนยันแล้วทั้งสิ้น 27 ดวง แต่ละดวงตั้งชื่อตามตัวละครในบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare) และอเล็กซานเดอร์ โปป (Alexander Pope) ซึ่งแตกต่างไปจากดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ที่มีการตั้งชื่อตามตำนานเทพเจ้ากรีกและโรมัน
ดาวยูเรนัสมีวงแหวน
วงแหวนของดาวยูเรนัสแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มวงในหรือกลุ่มที่อยู่ใกล้กับตัวดาว เป็นวงแหวนหลัก และอีกกลุ่มเป็นวงแหวนฝุ่นฟุ้งกระจายรอบนอก
ยูเรนัสใช้เวลา 84 ปี ในการกลิ้งไปรอบ ๆ ดวงอาทิตย์
ดาวยูเรนัสมีแกนหมุนรอบตัวเองที่เอียงถึง 97.8 องศาจากแกนตั้งฉากระนาบวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ถือว่าเอียงมากที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหมด จึงเปรียบได้กับลูกบอลยักษ์สีฟ้าที่กำลังกลิ้งอยู่รอบดวงอาทิตย์ ส่งผลให้เกิดฤดูกาลบนดาวเคราะห์ที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว
ดาวยูเรนัสใช้เวลา 84 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบหนึ่งรอบ ช่วงฤดูร้อนจะมีดวงอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้ายาวนานกว่า 21 ปี และฤดูหนาวที่มืดมิดไร้ดวงอาทิตย์อีก 21 ปี
ขอบคุณข้อมูล และอ่านข้อมูลที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ