วรวิสุทธิ์ ภิญโญยาง CEO ผู้ก่อตั้ง ชิฟท์ แอดไวเซอรี่ จำกัด ให้ความเห็นถึงดีล AIS กับ 3BBไว้ว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้เป็นกลยุทธ์ที่เอไอเอสใช้ในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจประเภทเดียวกัน (เรียกว่า Horizontal Integration)โดยการดำเนินกลยุทธ์สร้างความเติบโตจากภายนอก (External Growth) ด้วยการใช้วิธีการซื้อกิจการ (Takeover)
ประโยชน์ที่ได้ คือ เป็นทางลัดสร้างความเติบโต Geographic expansion หรือการขยายไปยังพื้นที่ที่ตัวเองไม่มี เช่นจังหวัดที่ 3BB ยึดครอง แต่บริการของเอไอเอสยังขยายไปไม่ถึง เมื่อรวมฐานผู้ใช้บริการทำให้ฐานผู้ใช้เพิ่มขึ้น อำนาจต่อรองก็มากขึ้น และเกิด economies of scale (การประหยัดจากขนาด) ต้นทุนต่อหัวลดลง
economies of scope (การประหยัดจากขอบเขต) คือ มีบริการที่หลากหลายขึ้นจากการเข้าถึงฐานลูกค้าอีกธุรกิจ ทำให้เกิดการ Cross-selling ได้ง่ายขึ้น เช่น เอไอเอส สามารถขายบริการเสริมอื่นๆ ให้กับลูกค้าของ 3BB และ บริการที่ 3BB มีอยู่ ก็เอามาขายให้ลูกค้าเอไอเอสได้เช่นกัน เช่น บริการ GigaTV , MonoMax , Cartoon Network และ HBO Go และเกิดeconomies of speed ลดเวลาและต้นทุน ทำให้พัฒนาหรือขยายขอบเขตการให้บริการได้เร็วยิ่งขึ้น
ถือเป็นเพิ่มมูลค่าให้กับราคาหุ้น ระยะสั้น หุ้นอาจจะขึ้น แต่ระยะยาว ผลของการควบรวม จะทำให้ต้นทุนต่ำลง กำไรมากขึ้น ก็จะสะท้อนไปที่มูลค่าหุ้นเอง และยังเป็นการลดการแข่งขันในธุรกิจ (ลดคู่แข่ง) ก็จะเหลือตัวหลักๆ คือ ทรู และ NT อดีตเบอร์ 3 ของปีก่อน ประโยชน์ถัดมาคือ การสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน (Synergies) มีอยู่ 5 แกนหลัก คือ Marketing & Sales Synergy การใช้ทีมขาย ช่องทางจัดจำหน่าย (3BB Shop, AIS Shop, Telewiz etc) สื่อและโฆษณา Branding ต่างๆ ร่วมกัน Investment Synergy การลงทุนต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายต่อหน่วย เช่น ลงทุนผลิต นำเข้าอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตด้วยกัน จากโรงงานเดียวกัน พัฒนากล่อง Set Top Box ร่วมกัน (AIS Play Box, GigaTV Box)
ทำให้ Cost Synergy ลดการลงทุนซ้ำซ้อน เช่น ในพื้นที่เดียวกัน สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานเดียวกัน จะได้ประหยัด Operating Synergy ใช้ทีมงาน บุคลากรร่วมกัน ใช้ตึก ใช้ออฟฟิศเดียวกัน เพื่อลดรายจ่ายต่อหน่วย เช่น ทีมติดตั้ง ทีมCall Center ทีมวิศวกร หรือ Sub-contract ที่ทั้ง 2 บริษัทใช้ในการขยาย ติดตั้ง และ support ลูกค้า Management Synergy ใช้ผู้บริหารกลุ่มเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารและลดรายจ่ายต่อหน่วย เพิ่มรายได้ต่อหัว (Average Revenue Per User : ARPU) ให้สูงขึ้น จากเดิมเอไอเอสไฟเบอร์มี ARPU = 444 บาท/เดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม = 525 บาท/เดือน แต่ของ 3BB มี ARPU อยู่ที่ 598 บาท/เดือน เอามาถัวๆกัน น่าจะช่วยดึง ARPU ของเอไอเอสไฟเบอร์ขึ้นไปได้อีกหน่อย และ Cross licensing ไม่แน่ใจว่า ใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่ 1 ที่ทั้งคู่มี ต้องเสียส่วนแบ่งมั้ย เสียเท่าไหร่ แต่สามารถยุบเหลือ 1 ใบได้ เพราะใช้ใบอนุญาตร่วมกัน รวมไปถึง license อย่างอื่นที่น่าจะลดไปได้อีก
บทสรุปกึ่งมโน ดีลนี้เดาว่าน่าจะจบได้ เพราะสภาพการแข่งขันในตลาด ยังมี NT อยู่อีกเจ้า (บางคนลืมไปแล้วเลยยังไม่ถึงกับเป็น Duopoly อีกทั้งยังมีบริการอื่นที่ใช้แทนกันได้ คือ บริการอินเทอร์เน็ต 4G, 5G ที่ไม่ได้แพง (Fixed Broadband vs. Mobile Broadband) เช่น ซิมเทพธอร์ของทรู ใช้ 5G Unlimited จำกัดความเร็ว 20 Mbps ก็ประมาณ 133 บาท/เดือน ของดีแทคก็มีแบบความเร็ว 30 Mbps ในราคาใกล้ๆกัน พอยังเป็นตลาดแบบผู้เล่นน้อยรายอยู่ + ผู้ใช้มีตัวเลือกอื่นมาแทนได้เงื่อนไขจะแตกต่างจากกรณีทรู-ดีแทค ที่จะเป็น Duopoly ไปเลย (แทบไม่ต้องนับ NT ในตลาดมือถือ) เป็นการใช้กลยุทธ์ของผู้ท้าชิง (Challenger Strategy) ที่ยอมทุ่มเงินเพื่อขึ้นเป็นผู้นำ สถานะของทรู กลายเป็นผู้ท้าชิงซะเอง และด้วยทรัพยากรและความแข็งแกร่งที่ตัวเองมี น่าจะตอกกลับด้วย กลยุทธ์โจมตีแสกหน้า (Frontal Attack) เป็นการจู่โจมเพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดคืนจากผู้นำ โดยอาศัยทรัพยากรทั้งหมดที่มี เราน่าจะได้เห็นสงครามโปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม กันช่วงนึงกล่อง AIS Play Box กับ GigaTV Box น่าจะกลายเป็นกล่องเดียว อาจจะย้ายผู้ที่ใช้งาน GigaTV มาใช้ AIS Play Box เป็นหลัก คอนเทนต์ในกล่อง GigaTV Box เช่น MonoMax, Cartoon Network, HBO Go น่าจะตามมาอยู่บน AIS Play Box ด้วย เท่ากับว่ากล่อง AIS Play Box นี่จะมีคอนเทนต์ให้ดูเยอะมาก ไม่ต่างอะไรกับธุรกิจเคเบิลทีวี แค่ใช้อินเตอร์เน็ตแทนแทบจะ spin-off ออกมาเป็นอีกธุรกิจ OTT ได้อีกธุรกิจ แข่งกับ True ID มันส์เลย
"ถ้าจะ spin-off AIS Play ออกมา ทางที่น่าจะแข่งกับต่างชาติได้ด้วย คือ ต้องร่วมกับ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง ONE และWorkpoint แล้วทำเป็น OTT National Consortium ไปเลย (จากนั้นก็ทยอยถอดคอนเทนต์ออกจาก YouTube ให้คอนเทนต์เด็ดๆ ดูได้เฉพาะแอปเดียว แบบนี้ถึงจะมีลุ้น...แต่เดาว่ายาก)
แบรนด์ที่ใช้ทำตลาด เดาว่า น่าจะเหลือแบรนด์เดียว คือ จากฝั่งเอไอเอส เพราะเป็นแบรนด์ที่เข้าถึงและเป็นที่รู้จักมากกว่าและง่ายกว่าในการทำ marketing communication (ใช้พรีเซนเตอร์จัดเต็ม ชุดเดิมได้เลย)
จะออกมาเป็น AIS 3BB อีกแบรนด์ เป็นไปได้ เป็นช่วง transition ชั่วคราวกันลูกค้า 3BB การปลดพนักงาน คิดว่ายัง เพราะธุรกิจยังไม่อิ่มตัว และยังโตได้อีก (คนใช้ทั่วประเทศยังหลัก ไม่ถึง 20 ล้านคน) เลยคิดว่า อาจจะมี relocate ย้ายแผนก ปรับทัพกันไปก่อน ปัจจัยสำคัญของธุรกิจนี้ คือ Last mile หรือการเชื่อมต่อขั้นสุดท้ายไปถึงบ้าน เพราะมันจะขยายไม่ได้เลย ถ้าสายหรือโครงข่ายไปไม่ถึง (ต่างจากมือถือที่ไปตามอากาศ) ความเร็วในการขยายพื้นที่จึงสำคัญมาก สามารถสร้างความได้เปรียบแบบผูกขาดแบบชั่วคราว (temporary monopoly) ในบางพื้นที่ได้เลย น่าจะมีการทำ Joint Venture ร่วมกับธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโต เพราะธุรกิจโทรคมนาคมตอนนี้โตแบบ 2 หลักนี่ยาก ต้องอาศัยการขยายแบบร่วมกับธุรกิจที่เติบโตเร็วและมาก ทั้งในแบบที่เกี่ยวข้องกันกับธุรกิจเดิม (Integration) เช่น เอไอเอสไปลงทุนร่วมกับ SingTel และSK Telecom เปิดบริษัทร่วมกันที่สิงคโปร์ ชื่อว่า ดิจิทัล เกม อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อทำธุรกิจเกมออนไลน์ และแบบที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย (Diversification) เช่น AISCB ที่ไปทำร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อให้บริการด้านการเงิน