นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีเสริมภักดีกุล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง ผู้แทนส่วนราชการระดับกรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์เรียนรู้ชุมชนฯ ร่วมปลูกต้นยางนา และตัดริบบิ้นเปิดป้าย "ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ" และกล่าวพบปะกับภาคีเครือข่าย โดยได้รับเมตตาจาก พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ และคณะสงฆ์ในพื้นที่ ร่วมกิจกรรม โดยมี นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ นายสุเมธ ธีรนิติ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับและนำตรวจเยี่ยม
นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า พี่น้องทุกคนคือผู้เป็นความหวังของแผ่นดิน" เพราะท่านเป็นผู้น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา ตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงมีความมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นจริงแท้ในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้พื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืน อันเป็นพื้นที่ที่ช่วยทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดี ลูกหลานของพวกเราในอนาคตก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป
"ดังที่วัดวรราชาทินัดดามาตุแห่งนี้ ทุกท่านจะเห็นว่าสถานที่แห่งนี้ เมื่อปีที่แล้วกับวันนี้ไม่เหมือนกัน ท่านเจ้าคุณเณร ได้พาพวกเราเดินตากแดดไปทั่วแปลง ปีที่แล้วก็คือดินดาน ดินหิน ไม่มีต้นไม้เลยสักต้น แต่วันนี้ หลังจากเราได้น้อมนำพระราชปณิธานมาขับเคลื่อนก็ยังผลให้เกิดความเขียวชอุ่ม มองแล้วชื่นตาชื่นใจ มองแล้วรู้สึกมีความสุข ภายใต้การนำของท่านเจ้าคุณหลวงพ่อเณร ผู้เป็นเจ้าอาวาส ได้เมตตาเป็นผู้นำ เสียสละพื้นที่ที่เป็นของวัด นำมาเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา เพื่อให้สถานที่แห่งนี้ เป็นเสมือนโรงเรียนให้พวกเราเห็นทันตาว่า คนที่น้อมนำทำตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระองค์ได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป" และต่อมาทรงมีพระราชดำรัสพระราชทานแก่ข้าราชบริพารของพระองค์ท่านว่า "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งคำว่า "แก้ไขในสิ่งผิด" พระองค์ท่านเตือนพวกเราว่า แม้เราเคยมีความเชื่อ เคยดำรงชีวิตแบบไหนที่คนหรือสังคมทั่วไปอาจจะบอกว่า 'มันไม่ดี' สามารถปรับเปลี่ยนได้ คนที่เคยติดยาเสพติดก็สามารถเปลี่ยนเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีความประพฤติดี เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ คนที่เคยขี้เกียจเกกมะเหรกเกเรไม่ยอมอ่านหนังสือ ก็อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมได้ถ้ารู้จัก 'แก้ไขในสิ่งผิด'" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงต้น
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ กล่าวเน้นย้ำว่า ชาวเพชรบูรณ์โชคดีที่เรามีศูนย์เรียนรู้ฯ แปลง CLM 5 แปลง ซึ่งแปลงหนึ่งในนั้นเรามีพระผู้ใหญ่ที่เป็นที่นับถือ เป็นที่พึ่งของญาติโยม คือ พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. หรือ "ท่านเจ้าคุณเณร" ซึ่งท่านเมตตาเสียสละ เป็นบัวพ้นน้ำ แม้ว่าจะเป็นทางโลกนิมิต คือ การเป็นพื้นที่ต้นแบบในการน้อมนำทฤษฎีใหม่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในพื้นที่ จนก่อให้เกิดกลายเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า "โคก หนอง นา" ตามพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงอรรถาธิบาย และสรุปว่ามัน คือ"อารยเกษตร" ซึ่งพระองค์ท่านทรงลงมือทำมาก่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการ "แก้ไขในสิ่งผิด" ที่พระองค์ทรงมีเป้าหมายให้พวกเราทุกคนได้น้อมนำมาปฏิบัติตาม โดยเป้าหมายที่ 1 'ประเทศต้องมั่นคง' ต้องเกิดจากความรักความสามัคคี คนไม่ติดยาเสพติด คนไม่มั่วสุมอบายมุข ต้องรักษาประเพณีวัฒนธรรม มีความกตัญญูกตเวที เป็นคนดี เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ 2 'ประชาชนต้องมีความสุข' ซึ่งท่านเจ้าคุณเณรสามารถทำให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ในการที่จะทำให้ประชาชนเกิดความสุข เกิดความชื่นอกชื่นใจและความเลื่อมใสแก่ผู้มาพบเห็น เราต้องช่วยกันขยายกระจายผลแห่งความสำเร็จนี้ไปให้ถ้วนทั่ว เพื่อให้สิ่งที่อุดมสมบูรณ์ สิ่งที่เป็นความสุข ดังปรากฏอยู่ ณ แปลงโคก หนอง นาแห่งนี้ ช่วยทำให้พี่น้องที่เป็นกำลังหลักของแผ่นดินได้ช่วยทำให้เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ เพราะ "เศรษฐกิจพอเพียงเริ่มได้จากทุกครัวเรือน"
"ครอบครัวจะมีความสุขไม่มีหนี้สิน ต้องลดรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นในชีวิต พวกค่าบุหรี่ เหล้า ต่อมา คือรายจ่ายที่จำเป็น ก็สามารถลดได้ ด้วยการน้อมนำพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยการปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เพื่อลดรายจ่าย และทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง เพราะผักสวนครัวที่ปลูกไว้กินเองปลอดสารพิษ ปลอดภัย ปลอดสารเคมี ไม่ต้องเสียเงินไปหาหมอ และที่สำคัญที่สุดช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมความรักความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานไว้หลายโครงการ ได้แก่ บ้านนี้มีรักปลูกผักกินเอง ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน ทหารพันธุ์ดี ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้เกิดการ "พึ่งพาตนเอง" จึงขอให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอ ส่งเสริมให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พี่น้องประชาชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP และทุกภาคส่วน ได้น้อมนำพระราชดำริ ช่วยกันปลูกผักสวนครัวไว้ในบ้านเยอะ ๆ ปลูกไว้กินเอง และแจกจ่ายเพื่อนบ้าน ทางนี้มีผลผู้คนรักกัน เน้นส่งเสริมให้ปลูกไม้ยืนต้นหรือไม้ให้ผลที่สามารถเก็บกินได้ เช่น มะม่วง ขนุนมะนาว มะกรูด ในพื้นที่สาธารณะข้างทาง โดยมีชาวบ้านช่วยกันดูแล เพื่อเป็นประโยชน์กับสาธารณะ กับชุมชน ทำให้บ้านเมืองร่มรื่น สิ่งแวดล้อมดี ซึ่งการจะทำให้ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวภายในบ้านครบ 100% ได้ "ผู้นำต้องทำก่อน" เมื่อผู้นำดี ทีมงานดี สิ่งดี ๆ ก็จะเกิดขึ้น" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวต่อ
"ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ และท่านนายอำเภอทั้ง 11 อำเภอ เป็นผู้นำที่มี Passion ช่วยกันส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนด้วยการรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีขึ้นไปครัวเรือนละ 1 คน ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามของปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง จนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน อากาศวิปริตแปรปรวน ให้เข้ามาร่วมสมัครเป็นอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก พ.ศ. 2561 เพื่อร่วมมือกันดูแลครอบครัวให้รู้จักคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้ง ขยะพิษ รวมทั้งเป็นผู้นำในการสร้างจิตสำนึกให้แก่คนในครอบครัว ชุมชนตำบล และหมู่บ้าน ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขยะมูลฝอย โดยใช้หลัก 3Rs หรือ 3ช : ใช้น้อย Reduce ใช้ซ้ำ Reuse และนำมาผลิตเพื่อใช้ใหม่ Recycle โดยเริ่มจากการปลูกฝังจิตสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยเด็ก ให้รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและถ่ายทอดความรู้ในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในระดับบุคคลหรือประชาชน พร้อมทั้งรณรงค์ให้ทุกครัวเรือน จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ซึ่งเป็นถังขยะเปียกคัดแยกขยะครัวเรือน ณ ต้นทาง ตั้งแต่แหล่งกำเนิด ให้ครบ 100% ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 และน้อมนำพระราชดำริ มาใช้ในชีวิตประจำวัน เกิดการพึ่งพาตนเอง ช่วยกัน Change for Good ดูแลรักษาโลกใบเดียวนี้ของพวกเราให้มีอายุยืนยาว เพื่อทำให้เกิดความสุขที่แท้จริงเกิดคุณภาพชีวิตที่ดีชั่วลูกชั่วหลานอย่างยั่ง" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวในช่วงท้าย
พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. เจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ กล่าวว่า พื้นที่แปลงโคก หนอง นา วัดวรราชาทินัดดามาตุแห่งนี้ เป็นอานิสงส์ที่ได้รับจาก นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่า ท่านเป็นคนติดดินเข้าถึงประชาชน เป็นคนวัด มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเมื่อตอนเริ่มทำโคก หนอง นา ท่านก็มาหว่านข้าวและร่วมปลูกต้นไม้ที่แปลงแห่งนี้ ปัจจุบันต้นไม้โตแล้ว จากที่ที่มีปัญหาสภาพดิน แต่ก็พยายามปลูกผักไว้แจกจ่ายประชาชนยามเดือดร้อนจริง ๆ เพื่อให้ประชาชน พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ที่ประสบปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา มีกินมีใช้เพราะว่าอาหารการกินเราก็ไม่ได้เตรียมพร้อม ส่วนใหญ่ทำงานที่กรุงเทพฯ กัน เวลากลับมาบ้านนอกไม่มีอาหาร ที่ไร่ที่นาก็แห้งแล้ง ไม่ได้มีการปลูกกล้วยหรือปลูกอาหารที่จะกิน เนื่องด้วยชาวบ้านที่นี่เป็นคนยากคนจนหาเช้ากินค่ำ เวลาที่จะมาทำการเกษตรหล่อเลี้ยงชีวิตนั้นยาก โครงการโคก หนอง นา ทำให้ประชาชนมีอาหารกิน มีที่อยู่ มีโรงครัวอย่างสบายไม่เดือดร้อน ช่วยประหยัดเงิน เพราะเรามีมะละกอ มีสะเดา และผักต่าง ๆ เราไม่จำเป็นต้องซื้อ เราก็จะได้ประหยัดเงินมา รายจ่ายเราก็ลดลง การเป็นอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ดังพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้รับการสืบสานโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ท่านบอกว่าให้ชาวบ้านอยู่แบบเรียบง่าย อยู่แบบมัชฌิมา คือ อยู่แบบทางสายกลาง พอเพียง เศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่สร้างความทุกเดือดร้อนให้กับตนเองและครอบครัว หรือสังคม อยู่แบบสบาย ๆ ซึ่งโคก หนอง นา ที่ท่านปลัดกระทรวงมหาดไทยส่งเสริมให้ทำอยู่นี่ คือคำตอบที่ชัดเจน ตรงเป้าหมายที่สุดในยุคนี้..”
นายกฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ศูนย์เรียนรู้โคก หนอง นา พัฒนาชุมชน พื้นที่เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Community Lab Model for quality of life : CLM) ระดับตำบล วัดพระวรราชาทินัดดามาตุ แห่งนี้ พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ เป็นพื้นที่ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น แม้แต่หญ้าก็ยังไม่ขึ้น พระภาวนามังคลาจารย์ วิ. มีแนวคิดที่จะปรับปรุงพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบโคก หนอง นา จึงได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา พื้นที่ 15 ไร่ โดยได้รับคำแนะนำจากท่านสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน และมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดำเนินการตามแนวทางที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด และเปิดให้พี่น้องประชาชนทั่วไปเยี่ยมชม ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์จะส่งเสริมขยายผลให้ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ โดยใช้กลไกศาสตร์พระราชาไปยังภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคน คนไปพัฒนาชุมชน พัฒนาพื้นที่พัฒนาสังคม สนองพระราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนโยบายของกระทรวงมหาดไทยอย่างยั่งยืนสืบไป