14 พ.ค.68 - เร่งเครื่อง “อว. For EV” พัฒนากำลังคนทักษะสูงรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ตั้งเป้าผลิต 5,000 คน ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม ดันไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. ให้เป็นผู้แทนร่วม หารือแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระยะที่ 2 ร่วมกับ ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน ที่ปรึกษาอธิการบดี ด้านส่งเสริมงานวิจัยอุตสาหกรรมและกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และคณะผู้บริหาร มจพ. เพื่อเร่งขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนทักษะสูงด้านยานยนต์สมัยใหม่ตามนโยบาย อว. For EV ของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. พร้อมรับมอบหนังสือหลักสูตรการเรียนการสอนจำนวน 6 หลักสูตร ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวง อว. จาก มจพ. โดยมีคณะผู้บริหาร อว. เข้าร่วม
ดร.พันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. และ มจพ. เตรียมเปิดรับสมัครผู้เข้ารับการอบรม “โครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่“ ระยะที่ 2 ตามนโยบาย อว. for EV ของ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.กระทรวง อว. ที่ให้กระทรวง อว. เร่งดำเนินการ 3 แผนงาน ประกอบด้วย การพัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และสนับสนุนงบวิจัย EV ทั้งระบบ โดยตั้งเป้าหมายผลักดันประเทศไทยสู่ EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่ผ่านมา สำนักงานปลัดกระทรวง อว. ได้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการดำเนินการโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของ มจพ. โดยมีกิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาเพื่อร่วมมือในการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม EV ผ่านแนวทางและกระบวนการต่าง ๆ ได้แก่ การจัดอบรม Upskill – Reskill - NewSkill เพื่อพัฒนาทักษะกำลังคนให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม EV ตลอดจนการสร้างองค์ความรู้และผลงานวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่เกิดจากการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม EV
ผลการดำเนินโครงการข้างต้น มจพ.ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากร ได้แก่ บุคลากรภาคอุตสาหกรรม บุคลากรของบริษัท SMEs หรือ Start Up บุคคลทั่วไปที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และนักศึกษาระดับอุดมศึกษา จำนวน 612 คน ภายใต้หลักสูตรที่ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้พัฒนาขึ้น จำนวน 6 หลักสูตร ได้แก่ (1) หลักสูตรแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (2) หลักสูตรการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องอัดประจุไฟฟ้า (3) หลักสูตรการตรวจวัดทางไฟฟ้าสำหรับยานยนต์สมัยใหม่ (4) หลักสูตรการวัดและรับส่งข้อมูลเพื่อการสื่อสารภายในยานยนต์ไฟฟ้า (5) หลักสูตรระบบขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และ (6) หลักสูตรระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับยานยนต์อัตโนมัติ
“การจัดอบรมในโครงการพัฒนากำลังคนทักษะสูงเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ระยะที่ 2 นี้ จะเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมในการสร้างบุคลากรด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดยมีกรอบระยะเวลาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2568 – 30 มิถุนายน 2569 ตั้งเป้าหมายในการผลิตบุคลากรดังกล่าว จำนวน 5 รุ่น และคาดว่าจะมีผู้สมัครกว่า 5,000 คน หากผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตรและเก็บหน่วยกิตสะสมในธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ได้อีกด้วย ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะเป็นฟันเฟือนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป”