X
สสส.-สมาคมสถาบันอุดมศึกษาฯ ร่วมแก้ไขปัญหามลพิษ

สสส.-สมาคมสถาบันอุดมศึกษาฯ ร่วมแก้ไขปัญหามลพิษ

16 พ.ค. 2568
40 views
ขนาดตัวอักษร

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย (สอสท) จัดงานประชุมระดมความคิดเห็นและสนทนากลุ่ม (focus group) “การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการไมโครพลาสติกที่กระทบต่อสุขภาพในประเทศไทย” งานประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วม เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหามลพิษจากไมโครพลาสติกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

 

การประชุมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการไมโครพลาสติกที่กระทบต่อสุขภาพในประเทศไทย” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อศึกษาการสะสมของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญด้านการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมอาหารทะเล ซึ่งไมโครพลาสติกเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กที่เกิดจากการสลายตัวของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม และสามารถเข้าสู่ระบบนิเวศรวมถึงร่างกายมนุษย์ผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม และอากาศ จากงานวิจัยในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย พบว่า อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้ สามารถสะสมในอวัยวะภายในและอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพ แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด แต่สัญญาณเตือนจากการศึกษาที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่ไม่อาจมองข้ามได้


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า มลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ได้กลายเป็นปัญหาที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเราทุกคน ทั้งจากอาหารที่บริโภค อากาศที่หายใจ และน้ำที่ดื่ม แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ไมโครพลาสติกสามารถสะสมในร่างกายของมนุษย์ และมีงานวิจัยพบว่า อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่อวัยวะสำคัญ เช่น ลำไส้ ตับ ปอด และแม้แต่ในเลือด ซึ่งส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ


โครงการวิจัยนี้ จึงมุ่งเน้นการศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกทั้งในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ ในพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกง ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตชุมชนที่สำคัญ ซึ่งหากตรวจพบไมโครพลาสติกในระดับที่ส่งผลกระทบ จะต้องเร่งสร้างความเข้าใจ ปรับปรุงมาตรการจัดการ และออกแบบนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และประเทศ ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว


รศ.ดร.รัฐชา ชัยชนะ หัวหน้าโครงการและนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่าไมโครพลาสติกเป็นปัญหาที่แทรกซึมอยู่ในทุกมิติของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในสิ่งแวดล้อม อาหาร น้ำ หรือแม้กระทั่งในร่างกายของเราเอง การวิจัยจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ พบว่า อนุภาคพลาสติกขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิต สะสมในอวัยวะภายใน และอาจเกี่ยวข้องกับภาวะสุขภาพเรื้อรังหลายประการ ถึงแม้ว่าในปัจจุบันเรายังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดในเชิงสาเหตุของผลกระทบเหล่านั้น แต่สัญญาณเตือนที่ปรากฏมากขึ้นเรื่อย ๆ ย่อมไม่อาจมองข้ามได้


การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อระดมความคิดเห็นและวิเคราะห์ปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติก ทั้งในมิติวิทยาศาสตร์และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งศึกษาช่องว่างองค์ความรู้และแนวทางจัดการที่เหมาะสมกับบริบทไทย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหาร


ในปีนี้ ทีมนักวิจัยจากสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย (สอสท) จะศึกษาการสะสมไมโครพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมและในประชาชนกลุ่มตัวอย่าง พร้อมจัดทำนโยบายเชิงเสนอเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)