อาจารย์หมอ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัส ชี้ชัดขนาดหลาย 100 ปี ยังไม่สามารถกำจัดโรค ที่เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ให้หมดไปได้ แม้จะมียารักษาที่ดี และนี่อาจเป็นอีกหนึ่งโรค ที่มีแนวโน้ม จะระบาดอยู่คู่ไปกับสังคมต่อไป โดยเฉพาะในช่วงฟื้นฟูประเทศ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว กำลังจะเบ่งบาน อาจารย์หมออีกท่าน มีข้อมูลสรุปจาก 16 ประเทศ มาแนะนำ ซึ่งร้อยละ 95 (เกือบทั้งหมด) ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ และ 1 ใน 3 พ่วงโรคหนองใน และซิฟิลิส
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวาน (25 ก.ค. 2565) กล่าวถึง โรคฝีดาษวานร ยากเกินควบคุม โดยระบุว่า
ฝีดาษวานร เป็นโรคที่องค์การอนามัยโลก ประกาศเป็น ภาวะฉุกเฉินฯ ระหว่างประเทศ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ซึ่งทุกประเทศ ควรจะต้องช่วยกันในการควบคุม ลดการระบาดของโรค
ปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วย ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก มากกว่า 16,000 คน มีรายงานกล่าวถึงการเสียชีวิต 5 ราย แต่ตามรายงานของ องค์การอนามัยโลก ในวันที่ 22กรกฎาคม 2565 ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยมากกว่า 70 ประเทศ และจะพบจำนวนเพิ่มมากขึ้นอีกแน่นอน
โรคนี้ เป็นโรคที่ไม่รุนแรง มีอัตราการเสียชีวิต น่าจะน้อยกว่า 3 ใน 10,000 โดยเฉพาะพวกกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ฝีดาษวานร ที่รายงานให้องค์การอนามัยโลก พบในเพศชาย ร้อยละ 98 และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ จำนวนมากเป็นชายรักชาย ตามข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก (22 ก.ค. 2565) และผู้ป่วยมีการติดเชื้อ HIV ร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก (https://worldhealthorg.shinyapps.io/mpx_global/)
โรคฝีดาษวานร ติดต่อและแพร่กระจาย โดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกิจกรรมเพศสัมพันธ์ โรคอะไรก็ตาม ที่เกี่ยวกับการสัมผัส ทางเพศสัมพันธ์ จึงยากที่จะควบคุม หรือกำจัดให้หมดไป กามโรค มีมานับหลาย 100 ปี มียารักษาที่ดี ก็ไม่สามารถกำจัดให้หมดไปได้ ในทำนองเดียวกัน ฝีดาษวานร จึงเป็นการยากในการควบคุม และกำจัดให้หมดไป นอกจากฉีดวัคซีน ที่มีประสิทธิภาพได้ครอบคลุมเกือบทั้งหมด ก็ต้องใช้จ่ายเงินอีกจำนวนมาก เราคงต้องอยู่กับโรคนี้อีก
ด้าน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความ ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat สรุปอาการของฝีดาษลิงจาก 16 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2565 เปิดเผยว่า
Thornhill JP และคณะ ได้เผยแพร่ผลการศึกษาอาการ ฝีดาษลิง ในผู้ป่วย 528 คนจาก 16 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่เมษายน ถึงมิถุนายน 2022 ที่ผ่านมา ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ ระดับโลก New England Journal of Medicine เมื่อ 21 กรกฎาคม 2022 ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญ คือ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเกย์ และไบเซ็กชวล (มีเพศสัมพันธ์ กับทั้งเพศชาย และเพศหญิง)
+ มีถึงร้อยละ 41 ที่ติดเชื้อเอชไอวีอยู่ด้วย
+ อายุเฉลี่ย (ค่ามัธยฐาน) 38 ปี (วัยทำงาน)
+ ร้อยละ 95 มีประวัติที่คาดว่า ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์
+ ร้อยละ 95 จะเกิดผื่นตามผิวหนัง หลังจากติดเชื้อฝีดาษลิง โดยผื่นจะพบบริเวณ ทวารหนัก หรือ อวัยวะเพศ ราวสามในสี่ (73%)
+ อาการผิดปกติอื่น ๆ ที่พบบ่อย ก่อนเกิดผื่น คือ ไข้ (62%), ต่อมน้ำเหลืองโต (56%), อ่อนเพลีย (41%), ปวดกล้ามเนื้อ (31%) และปวดหัว (27%)
+ มีราวหนึ่งในสาม (29%) ที่พบว่า ติดเชื้อโรคทางเพศสัมพันธ์อื่น ร่วมด้วย เช่น หนองใน, ซิฟิลิส, เริม
+ ระยะเวลาฟักตัว (ตั้งแต่เริ่มติดเชื้อ จนถึงเริ่มเกิดอาการป่วย) เฉลี่ย 7 วัน โดยเป็นได้ตั้งแต่ 3 - 20 วัน
+ ที่สำคัญ คือ จากการตรวจน้ำอสุจิ 32 คน สามารถตรวจพบ สารพันธุกรรมของ ไวรัสฝีดาษลิง ได้ถึง 29 คน
+ สามารถตรวจพบ สารพันธุกรรมของไวรัส ในลำคอ และจมูก ได้ถึงหนึ่งในสี่ (26%) และยังตรวจพบในเลือด และปัสสาวะได้ในบางคน
ฝีดาษลิง ได้รับการประกาศเป็น ภาวะฉุกเฉิน ทางด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยองค์การอนามัยโลก ประชาชน จึงจำเป็นต้องมีความรู้ ติดตามสถานการณ์ เพื่อให้รู้เท่าทัน และป้องกันตัวให้ห่างไกลจากฝีดาษลิง ระมัดระวัง การสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิด กับคนแปลกหน้า หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำงานด้านบริการ ดูแลรักษา รวมถึงแหล่งบันเทิงท่องเที่ยว ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมทางเพศ ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการเดินทางระหว่างประเทศ และการท่องเที่ยวเสรี โอกาสมีการติดเชื้อแฝงในชุมชน และแพร่ระบาดย่อมมีสูง
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : Yong Poovorawan (ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ)
https://www.facebook.com/yong.poovorawan
เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw
26 ก.ค. 2565
890 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย