X
ทำความรู้จัก “เจอ แจก จบ” ระบบ OPD รักษาผู้ป่วยโควิด

ทำความรู้จัก “เจอ แจก จบ” ระบบ OPD รักษาผู้ป่วยโควิด

2 มี.ค. 2565
2390 views
ขนาดตัวอักษร

มี..- กระทรวงสาธารณสุข เริ่มใช้มาตรการ “เจอ แจก จบ” ระบบ OPD รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด รูปแบบใหม่เตรียมพร้อมโควิดสู่โรคประจำถิ่น จะมีขั้นตอน และวิธีการดูแลผู้ป่วยอย่างไร ติดตามได้ที่นี่

กระทรวงสาธารณสุข ได้เริ่มมาตรการใหม่ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยและไม่มีปัจจัยเสี่ยง จะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก(OPD) ได้ ตามนโยบายOPD-HI First กระทรวงสาธารณสุข ในชื่อ เจอ แจก จบ เคียงคู่ไปกับระบบแยกรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีปัจจัยเสี่ยง (**ปัจจัยเสี่ยงคือ อายุมากกว่า 60 ปีโรคปอดเรื้อรังโรคไตเรื้อรังโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคหัวใจแต่กำเนิดโรคหลอดเลือดสมองเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กกหรือ BMI ≥30 กก./ตร..), ตับแข็ง และภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ)

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า “เจอ แจก จบ” ระบบผู้ป่วยนอกหรือ OPD เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยแบบสมัครใจ นอกจากระบบ HI และ CI 


โดยระบบบริการตรวจแบบ OPD นี้เหมาะสำหรับ “กลุ่มคนที่มีไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย และไม่มีปัจจัยเสี่ยง” เป็นการรักษาแบบ “เจอ-แจก-จบ อธิบายได้ว่า

  • เจอ คือตรวจเชื้อพบผลบวก
  • แจก คือการแจกความรู้สร้างความเข้าใจแนะนำให้เข้าถึงระบบ 
  • จบ คือผู้ป่วยได้เข้าสู่ระบบบริการครบวงจร 

หากผู้ป่วยตรวจ ATK ด้วยตนเองพบผลบวกแนะนำให้โทรสายด่วน สปสช.1330 เพื่อให้แพทย์ประเมินคัดกรองความเสี่ยง หากเสี่ยงน้อยก็จะประสานการรักษาผ่าน OPD หรือ HI/CI ตามความสมัครใจ 

หากผู้ป่วยต้องการเดินทางมารักษาในระบบ OPD ที่คลินิกทางเดินหายใจหรือ ARI คลินิก ที่ โรงพยาบาลก็ทำได้ โดยต้องป้องกันตนเองสูงสุดไม่ให้แพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย 2 ชั้น เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ใช้เจลแอลกอฮอล์ หรือหากใช้รถสาธารณะก็ต้องป้องกันตนเองสูงสุด

อย่างไรก็ตาม 95% ของผู้ป่วยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน มีอาการน้อย ถึงไม่มีอาการ อยู่ในกลุ่มสีเขียว และโอกาสที่อาการแปรกลายผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดง มีน้อยไม่ถึง 1% ไม่เหมือนกับสายพันธุ์อัลฟา เดลตา พร้อมยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิดยังคงรับบริการรักษาฟรี

ทั้งนี้โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ กทม.โรงเรียนแพทย์ จะรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิดในระบบ OPD “เจอ แจกจบ” ซึ่ง กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุขกว่า 60 แห่ง ที่มีคลินิกทางเดินหายใจสามารถรองรับผู้ป่วยได้วันละ 1 หมื่นราย

โดย OPD โควิด เป็นบริการเสริมที่เป็นทางเลือกไม่ใช่ทดแทน HI รองรับผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีภาวะเสี่ยง ไม่มีประกัน แต่ให้เป็นความสมัครใจ เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่หน้างาน

การรักษาแบบผู้ป่วยนอกคืออะไรการรักษาแบบผู้ป่วยนอก (Outpatient) คือผู้ป่วยที่มีอาการป่วยที่ไม่รุนแรง เมื่อแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยแล้ว จะจ่ายยานำกลับไปดูแลรักษาต่อที่บ้าน ถ้าอาการไม่ดีขึ้นจึงให้กลับมาตรวจซ้ำ ซึ่งระบบ “OPD โควิด เจอ แจก จบ” นั้นมีแนวทางคล้ายกัน ด้วยผู้ติดเชื้อในระลอกนี้อาการไม่รุนแรง และประชาชนส่วนใหญ่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจึงปรับรูปแบบการรักษาโควิดเป็นแบบผู้ป่วยนอก (OPD) นั้นเอง

สำหรับการรักษาผู้ป่วยแบบ OPD โควิด เริ่มจาก “ผู้สงสัยติดเชื้อ” ตรวจ ATK ด้วยตนเอง เมื่อผลตรวจเป็นบวก จะถือว่าเป็นผู้ติดเชื้อเข้าข่าย จากนั้นให้ผู้ป่วยหรือบุคคลใกล้ชิดโทรติดต่อสายด่วน 1330 หรือเข้ารับการรักษาที่คลินิกโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่โรงพยาบาล เพื่อประเมินอาการและปัจจัยเสี่ยง หากอาการไม่รุนแรงและไม่มีปัจจัยเสี่ยงจะสามารถรักษาแบบผู้ป่วยนอก OPD โควิด เจอ แจก จบ และแยกกักตัวที่บ้านได้ แต่หากมีปัจจัยเสี่ยงจะเข้าระบบHI/CI หรือ Hospitel ต่อไป 

สำหรับสูตรยาที่จะแจกให้กับผู้ติดเชื้อโควิด จะแบ่งไปตามกลุ่มอาการ ได้แก่ 

1.สูตรยารักษาตามอาการ 

2.สูตรยารักษาการติดเชื้อ ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ก็จะจ่ายยาโอเซลทามิเวียร์ รวมถึงยาแก้แพ้ 

3. สูตรยา ที่มีอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรีย และจ่ายยาฆ่าเชื้อ 

4.สูตรยากลุ่มผู้ติดเชื้อที่มีอาการแพ้อะม็อกซีซิลลิน 

5.สูตรยาที่มีการผสมฟ้าทะลายโจร 

6. สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิพิราเวียรให้กับคนที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 90 กิโลกรัม 

7.สูตรยาที่มีการจ่ายยาฟาวิราเวียร์ในผู้ติดเชื้อน้ำหนัก 90 กิโลกรัม

เมื่อกลับไปที่บ้านยังต้องกักตัวเป็นเวลา 10 วันนับจากวันที่เริ่มมีอาการหรือตรวจพบเชื้อ โดยจะได้รับการโทรติดตามอาการ 1 ครั้งที่ 48 ชั่วโมง ถ้าไม่มีอาการแย่ลง จะถือว่าได้รับการรักษาครบ แต่หากมีอาการมากขึ้น สามารถติดต่อหน่วยบริการเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาลได้

ทั้งนี้การบริการแบบนี้จะแตกต่างจากระบบ HI คือ จะไม่ได้รับอุปกรณ์ประเมินอาการ เช่น เทอร์โมมิเตอร์ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว รวมทั้งไม่ได้รับอาหาร 3 มื้อ

ซึ่งข้อดีของการรักษาโควิดแบบผู้ป่วยนอก คือ

1. ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตที่บ้านได้ตามปกติ คล้ายกับระบบ HI ซึ่งในทางปฏิบัติอาจออกจากบ้านได้ **แต่ต้องไม่เข้าไปในชุมชน 

2. เป็นการรักษาที่สอดคล้องกับแนวคิดอยู่ร่วมกับโควิด เพราะผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยสีเขียว ไม่จำเป็นต้องได้รับการติดตามอาการทุกวัน

3. ลดแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการรุนแรงในโรงพยาบาลอย่างเต็มที่ รวมถึงผู้ป่วยโรคอื่นที่จำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

ส่วนข้อเสียที่ต้องวางแผนเพื่อลดผลกระทบ คือ 

1. ผู้ป่วยอาจไม่มั่นใจการประเมินอาการของตนเอง

2. บ้านของผู้ป่วยอาจไม่มีความพร้อมในการแยกกักตัวจากสมาชิกคนอื่น 

3. ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าไปในชุมชนจนเกิดการแพร่เชื้อต่อ

Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล