X
งีบต่อซักพัก อาจจะทำให้ตื่นอย่างสดชื่น

งีบต่อซักพัก อาจจะทำให้ตื่นอย่างสดชื่น

1 ธ.ค. 2566
2880 views
ขนาดตัวอักษร

1 ธ.ค. 66 - ตื่นเช้าแล้วอยากงีบต่อ แต่นาฬิกาปลุกก็ไม่เป็นใจ อยากจะตั้งปลุกซัก 10 รอบ ก็กดปิด 10 รอบ งานวิจัยใหม่คราวนี้จะบอกว่าตั้งปลุกเรื่อย ๆ กดปิดเรื่อย ๆ ตื่นมาจะสดใส หรือจะหงุดหงิดหนักกว่าเดิม

ในตอนเช้าของหลาย ๆ คน คงเคยที่จะกดเลื่อนนาฬิกาปลุกเพื่อจะนอนต่อซักหน่อย ซัก 5 นาที 10 นาทีก็คงจะดี บางคนอาจเผลอนอนเลยไปเป็นครึ่งชั่วโมงเลยก็เป็นได้ แต่จากการศึกษาล่าสุดที่ลงตีพิมพ์ใน Journal of Sleep Research พบว่าการกดเลื่อนปลุกอาจจะช่วยให้การนอนดีขึ้น





นับเป็นการศึกษาที่ขัดกับความเชื่อของหลาย ๆ คน เลยทีเดียว ที่เชื่อว่าการลุกจากที่นอนทันทีหลังตื่น หรือหลังนาฬิกาปลุกจะเป็นการตื่นที่ดีกว่า การที่ปล่อยให้นาฬิกาปลุกหรือโทรศัพท์มือถือของคุณปลุกต่อไปเรื่อย ๆ น่าจะสร้างปัญหาให้กับการนอน แล้วเป็นการตื่นที่ไม่มีคุณภาพมากกว่า

แต่จากการศึกษาของศูนย์ศึกษาเรื่องการนอนและประสาทวิทยามหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปคินส์ ( Johns Hopkins Sleep Disorders Center and Instructor of Neurology) โดย ด็อกเตอร์ ซาร่า อี.เบนจามิน ( Dr. Sara E. Benjamin) ที่ตีพิมพ์ใน Journal of Sleep Research กลับพบว่ามันตรงกันข้ามกัน การงีบหลับต่ออีกซักพักหลังนาฬิกาปลุก อาจทำให้การนอนดีกว่าการที่ตื่นทันทีหลังจากนาฬิกาปลุกดัง

จากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 1,700 คน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เคยกดเลื่อนการปลุกเพราะรู้สึกเหนื่อยเกินไปที่จะตื่นในตอนนั้น จากการสำรวจจึงกลายมาเป็นการทดลอง โดยอาสาสมัคร 31 คนมานอนที่ห้องแล็บของมหาวิทยาลัยจอนส์ ฮอปคินส์ โดยใช้เวลาสามคืนในห้องแล็บ โดยอาสาสมัครมีอายุเฉลี่ย 27 ปี และไม่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ

ส่วนการทดลองจะทำโดยการให้อาสาสมัครนอนและตื่นเป็นเวลา 2 วัน โดยเมื่อตื่นขึ้น พวกเขาจะถูกขอให้แก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์และการทดสอบความรู้ความเข้าใจง่าย ๆ อื่น ๆ เช่น การท่องจำคำศัพท์ ในวันแรก ผู้เข้าร่วมได้รับคำสั่งให้เลื่อนนาฬิกาปลุกสามครั้งในช่วงสามสิบนาทีสุดท้ายของการนอนหลับ ในวันที่สองพวกเขาได้รับคำสั่งให้นอนหลับให้เต็มเวลาและตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงนาฬิกาปลุก





นักวิจัยยังได้วัดระดับ “คอร์ติซอล” (Cortisol) ในน้ำลายของอาสาสมัครหลังจากตื่นนอน สำหรับคอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่มีบทบาทสำคัญในการตื่นนอนโดยเฉพาะ เนื่องจากการตื่นนอนที่มีคุณภาพจะมีระดับคอร์ติซอลที่สูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับความรู้สึกตื่นตัว สดใส ในขณะที่ระดับคอร์ติซอลต่ำหมายถึงรู้สึกง่วง หาว นอน

ระดับคอร์ติซอล หลังการตื่นนอนทั้งวันที่ 1 และสองไม่มีความแตกต่างกัน แต่พอผ่านไป 40 นาที ระดับคอร์ติซอล ของวันแรกกลับมากกว่าวันที่ 2 ในระดับที่มากพอสมควร รวมทั้งการแก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์และการการตอบคำถามเรื่องง่าย ๆ ที่ผู้วิจัยตั้งโจทย์ไว้ วันแรกกลับสามารถทำได้ดีกว่าวันที่ 2 อย่างมีนัยยะสำคัญ




ด็อกเตอร์ ซาร่า อี.เบนจามิน ผู้วิจัยจึงบอกได้ว่าการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการเลื่อนปลุกและการนอนงีบต่ออีกซัก 10 – 30 นาทีนั้น ไม่ได้สร้างผลเสียให้กับการนอน แถมยังช่วยให้ตอนตื่นขึ้นมานั้นสดชื่นมากกว่าการตื่นทีเดียวพร้อมเสียงนาฬิกาปลุกอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตามผู้วิจัยยังได้เตือนว่า การวิจัยนี้ตัวอาสาสมัครเป็นผู้ที่มีสุขภาพการนอนที่ดี เพราะฉะนั้นหากเป็นผู้ที่มีปัญหาการนอน เช่นนอนกรน นอนหลับไม่สนิท หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ การวิจัยนี้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร ปัญหาด้านการนอนอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านการนอนจะได้คำตอบที่ดีกว่า




แน่นอนว่าการนอนหลับเป็นความสุขของเกือบทุกช่วงวัย โดยเฉพาะวัยทำงานหากได้นอนเพิ่มซัก 10 – 30 นาที แทบจะเป็นสวรรค์สำหรับวัยทำงานหลาย ๆ คนเลย ซึ่งการวิจัยก็ได้คำตอบเช่นนั้นจริง ๆ แต่ก็ต้องระวังดี ๆ หากนอนเพลินไป ไปทำงานสาย อาจจะไม่ค่อยดีซักเท่าไหร่

 

เรียบเรียงจาก Hitting Snooze May Help You Feel Less Sleepy and More Alert, Research Says

https://www.healthline.com/health-news/hitting-snooze-sleep-quality-study?utm_source=ReadNext

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)