กยศ. ยอมรับการที่สภาฯเห็นชอบยกเว้นดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ จะทำให้เงินหายไปปีละ 6, 000 ล้านบาท ปัจจุบันผู้กู้อยู่ระหว่างการเรียน 1 ล้านคน อยู่ระหว่างชำระเงินกู้ 3.5 ล้านคน ผิดนัดชำระ 2.5 ล้านคน วงเงินผิดนัดชำระ 90,000 ล้านบาท
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ยอมรับว่า การที่สภาฯ เห็นชอบการยกเว้นดอกเบี้ย กยศ. เพื่อรณรงค์ให้รุ่นพี่ชำระเงินคืน หวังให้รุ่นน้องผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ได้มีเงินกู้ในการเรียน กรณีผลของร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ จะทำให้เงินหายไปจากดอกเบี้ยและ เบี้ยปรับปีละ 6 พันล้านบาท จากเงินหมุนเวียน 4 แสนล้านบาท สำหรับขั้นตอนของกฎหมาย อาจต้องลุ้นการพิจารณาของวุฒิสภาด้วยเช่นกัน ว่าจะเห็นชอบในเรื่องนี้อย่างไร แต่ขอยืนยัน กยศ.เป็นหลักประกันเงินทุนให้กับทุกครอบครัวในการเล่าเรียน
ตั้งแต่เริ่มตั้งกองทุน กยศ. 20 ปีที่ผ่าน ได้ปล่อยกู้ให้นักเรียน นักศึกษาไปแล้ว 6 แสนล้านบาท จำนวน 6.2 ล้านคน ชำระเงินปิดบัญชีไปแล้ว 1.6 ล้านคน อยู่ระหว่างการเรียน 1 ล้านคน อยู่ระหว่างชำระเงินกู้ 3.5 ล้านคน ผิดนัดชำระ 2.5 ล้านคน วงเงินผิดนัดชำระ 90,000 ล้านบาท สำหรับผู้จบการศึกษาและทำงานทยอยชำระหนี้ราวปีละ 30,000 ล้านบาท ในปี 65 ปล่อยกู้ไปแล้ว 40,000 ล้านบาท จากผู้กู้ 640,000 คน โดยมีเงินไหลเข้ามาจากการชำระหนี้ปีละ 30,000 ล้านบาท ในอนาคต กยศ. อาจต้องปรับรูปแบบการกู้เงิน สำหรับนักเรียน นักศึกษายุคใหม่ รองรับการอบรม การเรียนในคอร์สระยะสั้น เช่น การฝึกอบรมอาชีพ การเพิ่มทักษะ เพื่อกู้ในระยะ 6 เดือน หรือ 1 ปี