11 ก.ค.66 - ผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันไม่เคยสั่งแก้ไขแบบก่อสร้างสะพานข้ามแยกที่พังถล่มย่านลาดกระบัง คาดสามารถเร่งรื้อถอนเสร็จใน 3 วัน และเปิดการจราจรได้ตามปกติ
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าเหตุโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่มว่า โครงการนี้มีบริษัทผู้รับเหมา 2 รายในลักษณะ Joint venture หรือ "กิจการร่วมค้า" คือ ธาราวัญ-นภา ซึ่งเดิมใช้รูปแบบการก่อสร้างใช้ Segment หรือแผ่นปูนที่ใช้ทำพื้นถนนแบบหล่อสำเร็จในพื้นที่ก่อสร้าง เพราะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าแต่ใช้พื้นที่มากกว่า
แต่หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การก่อสร้างหยุด-ล่าช้า ทำให้ผู้รับเหมาขอเปลี่ยนรูปแบบใช้ Segment ที่หล่อสำเร็จจากโรงงานแทน ซึ่งมีการควบคุมคุณภาพเช่นเดียวกันเพื่อทำให้ก่อสร้างรวดเร็วขึ้น “อย่างไรก็ตามยืนยันว่าไม่เคยสั่งแก้ไขหรือเปลี่ยนแบบโครงการ” โดยรูปแบบดังกล่าว มีการควบคุมตามหลักวิศวกรรมไม่ได้มีความปลอดภัยน้อยลง
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผอ.สำนักการโยธา กล่าวว่า รูปแบบของการประกวดราคาครั้งนี้ เราใช้ในรูปแบบการหล่อในที่ แต่ได้มีการเปิด TOR ไว้ว่าสามารถเสนอเป็นรูปแบบหล่อสำเร็จก็ได้ ซึ่งช่วงต้นเส้นทาง ผู้รับจ้างได้ทำแบบหล่อในที่ แต่เนื่องจากมีผลกระทบเรื่องการจราจร และใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน รวมทั้งการก่อสร้างล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมมาก “ทางผู้รับจ้างจึงได้ยื่นขอเปลี่ยนรูปแบบเอง เป็นการหล่อสำเร็จเพื่อยกมาติดตั้งในพื้นที่ก่อสร้าง” ซึ่งก็เป็นวิธีการก่อสร้างที่ทำกันปกติ โดยยื่นขอเปลี่ยนในช่วงประมาณปลายเดือนกันยายนถึงตุลาคม2565
•
สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้น พบว่าโครงสร้างสะพาน หรือ Box Segment พังขณะดึงลวดอัดแรง ส่งผลให้อุปกรณ์ยึดตัวสะพาน (ลอนเชอร์ Launching Truss) ที่ทำหน้าที่ยึดแผ่นปูน Segment และล้มพับทับโครงสร้างสะพานเสียหายไป 1 ช่วงสะพาน มองว่าการเร่งรัดการก่อสร้าง ไม่ใช่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ ส่วนสาเหตุที่แท้จริงยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบร่วมกับวิศกรรมสถาน
ขณะที่สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในวันนี้ คือ การรื้อถอนโครงสร้างสะพานออกจากพื้นที่ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ ช่วง 7 โมงเช้าที่ผ่านมา คาดว่าน่าจะใช้เวลา 3 วันจึงเปิดการจราจรถนนหลวงแพ่ง ได้ตามปกติ โดยระหว่างการรื้อถอนก็สั่งให้เก็บหลักฐานไปด้วย เพราะอาจได้ข้อมูลจุดบกพร่องที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้ ขณะนี้สั่งปิดงานก่อสร้างทั้งหมดชั่วคราวแล้ว และได้ตรวจสอบลอยเชอร์ อีกตัวที่ยังเหลืออยู่แล้ว
สำหรับตัวเลขผู้เสียชีวิตยืนยันแล้ว 2 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 1 ราย และที่โรงพยาบาล 1 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บทั้งหมด 12 ราย รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลตุฬารัตน์ 9 และโรงพยาบาลบาดกระบัง มี 2 รายที่ส่งต่อจากลาดกระบังไป รพ.หัวเฉียว กับ รพ.พุทธโสธร ซึ่งทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทั้งหมดได้รับเป็นผู้ป่วยในพระบรมราราชานุเคราะห์แล้ว