X
สหประชาติลงมติเพิ่มสิทธิพิเศษปาเลสไตน์ให้เทียบเท่าสมาชิกแล้ว ท่ามกลางคำขู่ของสหรัฐฯ - อิสราเอล

สหประชาติลงมติเพิ่มสิทธิพิเศษปาเลสไตน์ให้เทียบเท่าสมาชิกแล้ว ท่ามกลางคำขู่ของสหรัฐฯ - อิสราเอล

11 พ.ค. 2567
820 views
ขนาดตัวอักษร

11 พ.ค. 67 - สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ลงมติอย่างท่วมท้น เพื่อสนับสนุนให้ปาเลสไตน์มีสิทธิพิเศษเทียบเท่าสมาชิกสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2567 ท่ามกลางบรรยากาศสงครามในฉนวนกาซาและขอบเขตของวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซา


ทั้งนี้ สมัชชาลงมติสนับสนุนถึง 143 เสียง คัดค้าน 9 เสียง และงดออกเสียง 25 เสียง เพิ่มสิทธิพิเศษให้ปาเลสไตน์เทียบเท่าสมาชิกสหประชาชติโดยสมบูรณ์ ทำให้ปาเลสไตน์ ซึ่งยังคงมีสถานะเป็นประเทศสังเกตการณ์มาตั้งแต่ปี 2012 จะได้รับสิทธิเกือบทุกอย่างเทียบเท่ากับประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ยกเว้นสิทธิในการลงมติในที่ประชุมสมัชชา (GA) และสิทธิในการเป็นสมาชิกในองค์กรของยูเอ็นเช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)

มตินี้ยังให้สิทธิ์แก่ผู้แทนปาเลสไตน์ในการนั่งอยู่ท่ามกลางรัฐสมาชิกยูเอ็น โดยเรียงตามลำดับตัวอักษรด้วย

ทั้งนี้ ก่อนการงคะแนนเสียง นายกิลาด เออร์ดาน ผู้แทนถาวรอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการยื่นมติในครั้งนี้ด้วยการฉีกปกสำเนากฎบัตรสหประชาชาติชุดเล็ก พร้อมกล่าวว่า “พวกคุณกำลังทำลายกฎบัตรสหประชาชาติด้วยมือของคุณเอง ใช่ ใช่ นั่นคือสิ่งที่พวกคุณกำลังทำอยู่ ทำลายกฎบัตรสหประชาชาติ ช่างละอาย”

ด้านนาย ริยาด มันซูร์ ทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติกล่าวว่าการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ จัดขึ้นในขณะที่ประชาชนชาวเมืองราฟาร์ ที่ทั้งของสถานที่ลี้ภัยแห่งสุดท้ายในกาซ่า กำลังเผชิญหน้ากับการโจมตีจากกองกำลังอิสราเอล “ในขณะที่เรากำลังคุยกัน ชาวปาเลสไตน์ 1.4 ล้านคนในราฟาห์กำลังสงสัยว่าพวกเขาจะมีชีวิตรอดในวันนี้หรือไม่ และสงสัยว่าจะไปที่ไหนต่อไป ไม่มีที่ไหนเหลือให้ไปแล้ว” นายมันซูร์กล่าวและกล่าวต่อว่า

“ผมเคยยืนบนโพเดียมนี้มาหลายร้อยครั้งแล้ว หลายครั้งในสถานการณ์ที่น่าสลดใจ แต่ไม่มีครั้งใดที่เทียบได้กับการที่ประชาชนของผมต้องทนทุกข์ในวันนี้  ไม่เคยมีการลงคะแนนเสียงครั้งใด ที่มีความสำคัญไปกว่าการลงคะแนนเสียงครั้งประวัติศาสตร์นี้แล้ว”

ทางด้านสหรัฐฯ  เนท อีแวนส์ โฆษกของคณะผู้แทนสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ "เราทราบถึงญัตติดังกล่าวและเน้นย้ำความกังวลของเราต่อความพยายามใดๆ ในการขยายผลประโยชน์บางอย่างไปยังองค์การหนึ่ง ทั้งที่คำถามต่างๆ ยังไม่ได้รับการคลี่คลาย เช่นเดียวกับคำถามที่ว่าในปัจจุบัน ปาเลสไตน์ทำได้ตามเกณฑ์กำหนดภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติหรือไม่"

โดยก่อนหน้านี้ในปี 2011 อเมริกาเคยระงับเงินทุนที่มอบแก่หน่วยงานวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (ยูเนสโก) หลังจากรับรององค์การปาเลสไตน์ ในฐานะสมาชิกเต็มรูปแบบ

โดยทางด้านโฆษกทำเนียบขาวนาย จอห์น เอฟ เคิร์กบี้ กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ยอมให้การกระทำครั้งนี้เกิดขึ้น โดยคาดว่าสหรัฐฯ อาจใช้สิทธิ VETO มติในครั้งนี้

สำหรับการลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ ประเทศไทยลงคะแนนเสียงสนับสนุนเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน สำหรับสมาชิกที่ลงคะแนนเสียงคัดค้านประกอบด้วย อาร์เจนตินา, เช็คเกีย, อิสราเอล, ฮังการี, ไมโครนีเซีย, นาอูรู, ปาลาลู, ปาปัวนิวกินี, และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ชาติยุโรปส่วนใหญ่งดออกเสียง

อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)