X
TDRI มองสงครามชิป ความท้าทายของไทย ในสมรภูมิ AI โลก

TDRI มองสงครามชิป ความท้าทายของไทย ในสมรภูมิ AI โลก

14 ก.ค. 2568
60 views
ขนาดตัวอักษร

สลิลธร ทองมีนสุข และ อัชราภรณ์ อริยสุนทร นักวิชาการอาวุโส TDRI นำเสรอบทความวิเคราะห์ทิศทางการแข่งขันของ AI ในระดับโลก และเสนอแนวแนสทาวสำหรัยประเทศไทยว่า ในศตวรรษที่ 21 เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้เป็นเพียงกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ได้กลายเป็นหัวใจของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ การแย่งชิงความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน


เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2568 ที่ผ่านมามีการรายงานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจมีแผนจำกัดการส่งออกชิป AI ไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย และมาเลเซีย เพื่อป้องกันการเลี่ยงมาตรการควบคุมการส่งออกไปยังจีนโดยอ้อม ประเด็นนี้ได้จุดประกายให้ต้องกลับมาทบทวนบทบาทของประเทศไทยในสมรภูมิ “สงครามชิป” ที่กำลังเข้มข้นขึ้น แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์โดยตรง แต่กลับมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก โดยเฉพาะในด้านการประกอบ บรรจุ และทดสอบชิป (OSAT) ซึ่งเป็นขั้นตอนท้ายที่จำเป็นต่อการส่งชิปเข้าสู่ตลาดโลก 


ไทยอยู่ตำแหน่งใด ในกรอบ AI Diffusion Framework

ประเทศไทยอยู่ในกลุ่ม “Tier 2” ภายใต้กรอบ AI Diffusion Framework ของสหรัฐฯ ซึ่งหมายถึงการเป็นประเทศที่ยังไม่มีมาตรการ หรือสถาบันด้านการควบคุมเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ ให้ความเชื่อมั่นในระดับสูง หมายความว่า แม้ไทยจะไม่ได้ถูกจัดอยู่ใน “เป้าหมายโดยตรง” ของมาตรการควบคุม AI-chip เช่นเดียวกับจีน แต่สถานะ Tier 2 หมายถึงการอยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯ เฝ้าระวังว่าจะกลายเป็น “ช่องทางอ้อม” (indirect pathway) ให้เทคโนโลยีอ่อนไหวหลุดรอดไปยังประเทศที่ถูกควบคุมโดยตรง เช่น จีน หรือรัสเซีย


ความเคลื่อนไหวนี้ของสหรัฐฯทำให้เกิดข้อกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ เช่น แผนการลงทุนในศูนย์ข้อมูล AI ที่ต้องอาศัย GPU (Graphics Processing Unit) หรือ "หน่วยประมวลผลกราฟิก สมรรถนะสูงอาจถูกชะลอ ตลอดจนความกังวลว่าภาคการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทยซึ่งเน้นบทบาทด้านการประกอบ และทดสอบก็อาจตกเป็นเป้าหมายของข้อจำกัดทางการค้า 


นอกจากนี้ ภายใต้ AI Diffusion Framework ของสหรัฐฯ ประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มพันธมิตร Tier 1 เช่น ไทยจะถูกกำหนด “TPP quota”ซึ่งเป็นขีดจำกัดการนำเข้าชิปประสิทธิภาพสูงในแต่ละช่วงเวลา โดยโควตาเริ่มต้นคือ 790 ล้าน TPP (ราว 50,000 GPU) และสามารถขอเพิ่มได้เป็น 1,580 ล้าน TPP หากรัฐบาลไทยยื่นหนังสือรับรองอย่างเป็นทางการต่อสหรัฐฯ


ขณะเดียวกัน ประเทศ Tier 2 ไม่มีสิทธิใช้ license exceptions ที่ออกแบบเพื่อให้พันธมิตรสามารถนำเข้า IC หรือโมเดล AI บางประเภทได้โดยไม่ต้องขอใบอนุญาต ซึ่งหมายความว่า ไทยจำเป็นต้องอาศัยการขอ license แบบเต็มรูปแบบ และอยู่ภายใต้ “presumption of denial” หรือมีแนวโน้มถูกปฏิเสธเป็นหลักหากโควตา หมด


การอยู่ใน Tier 2 สะท้อนถึงความไม่พร้อมด้านกฎหมาย และกลไกตรวจสอบ  แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธทำลายล้างสูง (WMD) อย่างพระราชบัญญัติการควบคุมการค้าสินค้าที่เกี่ยวกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. 2562 และมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ปี 2564 ที่ระบุรายการสินค้าสองทาง (Dual-Use Items: DUIs) ซึ่งอ้างอิงจากรายการของสหภาพยุโรปปี 2019 แต่ระบบการควบคุมเทคโนโลยีขั้นสูงของไทยยังไม่ถือว่าเทียบเท่ามาตรฐานสากล 


รายการสินค้าสองทาง (DUI Lists) หรือ เทคโนโลยีที่ใช้ได้ทั้งในทางพลเรือนและทางทหารที่ไทยใช้อยู่ยังอิงตาม EU Dual-Use List ปี 2019 ไม่ครอบคลุมรายการที่ EU และสหรัฐฯ ใช้ในปัจจุบัน โดยสหรัฐฯ ที่เพิ่มหมวดเทคโนโลยีอ่อนไหวเชิงยุทธศาสตร์อย่าง AI accelerator chips, เครื่องมือออกแบบชิป (EDA tools) และเทคโนโลยี quantum computing ลงใน Commerce Control List 


ไทยมีระบบดิจิทัลพื้นฐาน (e-TCWMD) สำหรับควบคุมสินค้าสองทางภายในประเทศ แต่ยังไม่ได้เชื่อมต่อกับระบบของประเทศคู่ค้าอย่างสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ทำให้ยังไม่สามารถใช้ระบบตรวจสอบปลายทางร่วมได้ในระดับ real-time หรือ automated assurance


ปัจจุบันไทยยังไม่มีระเบียบควบคุมเฉพาะสำหรับเทคโนโลยีใหม่ เช่น AI หรือ quantum computing ในบริบทความมั่นคงขณะที่สหรัฐฯ ได้ออกกฎ AI Diffusion Rule เพื่อควบคุมการส่งออกเฉพาะในกรณีที่มีความเสี่ยง เช่น การส่งออกชิป AI หรือโมเดล AI ปิด ไปยังประเทศหรือผู้ใช้งานที่มีความเกี่ยวข้องกับการทหารหรือกิจกรรมต้องห้าม (โดยที่ระเบียบลักษณะนี้ไม่ได้เพิ่มภาระกับผู้ประกอบการทั่วไป เพราะไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตหากไม่เข้าเงื่อนไขที่กำหนด)


แม้ไทยจะมีระบบควบคุม “catch-all control" สำหรับสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ซึ่งให้อำนาจกรมการค้าต่างประเทศสั่งระงับการส่งออกหรือโอนสินค้าที่อาจถูกใช้ในกิจกรรมต้องห้ามได้ แต่ระบบนี้ยังไม่ครอบคลุม catch-all control เชิงเศรษฐกิจแบบที่สหรัฐฯ ใช้

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย


เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ประเทศทางอ้อม” ที่อาจใช้เลี่ยงมาตรการควบคุมเทคโนโลยี ไทยควรดำเนินการเชิงรุก 4 ด้านเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือในฐานะผู้ใช้และผู้ผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง โดยไม่เลือกข้างแต่เลือกมาตรฐาน:

1. ปรับปรุงกฎหมายและระบบดิจิทัลควบคุมเทคโนโลยี เพื่อครอบคลุม emerging technologies เช่น AI, quantum, cloud โดยขยาย catch-all control ไปสู่ความมั่นคงเศรษฐกิจ พร้อมพัฒนาระบบข้อมูลที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เช่น EAR ของสหรัฐฯ และ EU Dual-Use Regulation

2. ส่งเสริมแนวทางควบคุมแบบสมัครใจภาคเอกชน เช่น การรับรองปลายทาง หรือกำกับการใช้งาน GPU โดยไม่เพิ่มภาระทางกฎหมาย เพื่อแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน

3. ทบทวนยุทธศาสตร์ AI และเทคโนโลยีแห่งชาติ ให้ตั้งอยู่บนหลัก open standard และสถาปัตยกรรมแบบเปิด เพื่อสะท้อนจุดยืนเชิงบวกในเวทีระหว่างประเทศ

4. ประกาศท่าทีระดับรัฐอย่างชัดเจน ว่าไม่สนับสนุนการนำเทคโนโลยีไปใช้ในทางทหารหรือกิจกรรมที่ประเทศพันธมิตรกังวล พร้อมเปิดความร่วมมือกับ BIS ในระบบตรวจสอบปลายทาง โดยระบบควบคุมที่โปร่งใสจะช่วยหลีกเลี่ยงแรงกดดันจากขั้วมหาอำนาจ พร้อมรักษาสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีและการลงทุนในระยะยาว

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)