หรือนี่.. คือ การส่งสัญญาณบอก สถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด 19 ที่เพิ่มขึ้น หรือไม่..อย่างไร ? จากที่ภาครัฐ ประกาศผ่อนคลายมาตรการ มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 ซึ่งเหล่าอาจารย์หมอ และบุคลากรทางการแพทย์ หลายฝ่ายต่างออกมาให้มุมมองท้วงติง และล่าสุด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ที่คอยบอกย้ำเสมอ ให้ตระหนักถึงมาตรการป้องกัน การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ก็ได้โพสต์ระบุถึง โรงพยาบาลจุฬาฯ ที่ได้ออกประกาศ งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ทุกหอผู้ป่วย รวมถึงผู้มาเฝ้าไข้ จะต้องดำเนินการตาม มาตรการคัดกรองของโรงพยาบาลฯ ในวันเดียวกันกับที่ภาครัฐ ประกาศผ่อนคลายมาตรการ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่ วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป เช่นกัน
โดย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม รองหัวหน้าภาคฯ ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat กล่าวถึงสถานการณ์แพร่ระบาด ของโรคโควิด 19 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม ที่ผ่านมา (2565) พร้อมเผยแพร่ภาพโปสเตอร์ ประกาศของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เรื่องการปรับมาตรการเฝ้าไข้ และงดเยี่ยมผู้ป่วยของ รพ. โดยระบุว่า
ชัดเจนนะครับว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ได้สวยหรูเหมือนตัวเลขที่รายงาน และในภาพโปสเตอร์ประกาศ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ให้ข้อมูลถึงเรื่อง การปรับมาตรการเฝ้าไข้ และงดเยี่ยมผู้ป่วยของ รพ. ว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้ เริ่มมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด ในกลุ่มผู้ป่วย และบุคลากรโรงพยาบาลฯ จึงให้ปรับมาตรการเฝ้าไข้ และงดเยี่ยมผู้ป่วย ดังนี้
1. งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ทุกหอผู้ป่วย
2. อนุญาตให้มีผู้เฝ้าไข้ประจำ 1 คน ต่อผู้ป่วย 1 ราย โดยผู้เฝ้าไข้ จะต้องดำเนินการตาม มาตรการคัดกรองของโรงพยาบาลฯ
3. เจ้าหน้าที่ ที่เข้าปฏิบัติงานในห้องผู้ป่วย ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป
และในเรื่องมาตรการ งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย Backbone MCOT ได้ค้นข้อมูลจากเฟซบุ๊ก และ เว็บไซต์ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า
การออกประกาศของ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในเรื่องการงดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ทุกหอผู้ป่วยนั้น ได้เพิ่งจะผ่อนคลายมาตรการ เมื่อต้นเดือน มิถุนายน ที่ผ่านมา (2565) โดยแจ้งว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีจำนวนของผู้ติดเชื้อลดลง ทางโรงพยาบาลฯ จึงขอเปลี่ยนแปลงมาตรการเข้าเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ดังนี้ ให้เยี่ยมไข้เฉพาะญาติเท่านั้น, กำหนดเวลาเข้าเยี่ยมไข้ วันละ 2 รอบ (11.00 - 13.00 และ 17.00 - 19.00 น.) จำกัดครั้งละ 2 คน โดยผู้เข้าเยี่ยมไข้ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือบ่อย ๆ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป
ซึ่งหากย้อนไปถึง... การออกประกาศ ในเรื่องการงดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ทุกหอผู้ป่วย ได้เคยมีประกาศมาแล้ว เมื่อต้นปี 2565 โดยแจ้งว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน ได้ทวีความรุนแรงขึ้น และทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จึงมีมาตรการในการเฝ้าไข้ และงดเยี่ยมผู้ป่วย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2565
ทั้งนี้ ในการประกาศเรื่อง งดเยี่ยมไข้ผู้ป่วย ของโรงพยาบาลฯ ในครั้งนี้ หากดูในข้อมูลเหตุผลที่มีการชี้แจง น่าจะสะท้อนให้เห็นแนวโน้ม การแพร่ระบาดของ โรคโควิด 19 ที่เพิ่มขึ้นจนบุคลากรการแพทย์ และอาจารย์หมอ ออกมาท้วงติง หรือไม่.. อย่างไร ?
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ในเรื่องของการให้บริการผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยใน และผู้ป่วยนอก กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน, เรื่องของหอผู้ป่วย เป็นอย่างไร มีบริการแบบไหน, การผ่าตัดในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, การบริการแม่และเด็ก, การบริการตรวจวินิจฉัย และการสืบสวนโรค สามารถติดตามได้ทาง เว็บไซต์ของโรงพยาบาลจุฬาฯ ทั้งนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลที่ทางโรงพยาบาลฯ ได้รวบรวมจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ ให้ติดตามอ่านได้สะดวกขึ้น ในหนังสือที่ระลึก 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่ >> (หนังสือที่ระลึก 100 ปี โรงพยาบาลจุฬาฯ)
#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :
เฟซบุ๊ก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://www.facebook.com/ChulalongkornHospital
เว็บไซต์ : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://chulalongkornhospital.go.th
เฟซบุ๊ก : Thira Woratanarat (รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์)
https://www.facebook.com/thiraw
4 ก.ค. 2565
2820 views
ขนาดตัวอักษร
อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย