จากกรณีการสูญหายไปของวัตถุกัมมันตรังสี “ซีเซียม-137” ของโรงไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน อ.ศรีมหาโพธิ์ จ.ปราจีนบุรี สูญหาย ทำสังคมให้เกิดความกังวลว่า อาจมีผู้ไม่ทราบว่าเป็นวัตถุอันตรายและส่งผลต่อสุขภาพนั้น เราเลยขอพาไปดูว่าซีเซียม-137 คืออะไร อันตรายแค่ไหน มีไว้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านใด และมีผลต่อสูขภาพอยางไร
ซีเซียม-137 (Cs-137) เป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม ซึ่งเป็นผลผลิตฟิชชันที่เกิดจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิชชัน ซีเซียม-137 มีครึ่งชีวิต 30.17 ปี ประมาณ 95% สลายตัวโดยการปลดปล่อยรังสีบีต้าแล้วกลายเป็นแบเรียม-137m (barium-137m) ซึ่งเป็นไอโซโทปกึ่งเสถียร (metastable) หรือไอโซเมอร์ของแบเรียม-137 (137mBa, Ba-137m) ส่วนอีก 5% สลายตัวไปเป็นไอโซโทปเสถียรโดยตรง แบเรียม-137m (Ba-137m) สลายตัวให้รังสีแกมมา โดยมีครึ่งชีวิต 2.55 นาที ซีเซียม-137 ปริมาณ 1 กรัม มีกัมมันตภาพรังสี 3.215 เทราเบคเคอเรล (terabecquerel, TBq)
การใช้ประโยชน์ ถ้าปริมาณน้อยๆ จะใช้สำหรับปรับเทียบเครื่องมือวัดรังสี ใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมมาในการวัดความหนาแน่นของเครื่องมือเจาะสำรวจน้ำมัน ใช้เป้นต้นกำเนิดรังสีในการรักษามะเร็ง รวมทั้งใช้ในเครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม เช่น เครื่องวัดความหนาของวัสดุ เครื่องวัดการไหลของของเหลว
สำหรับสารซีเซียม-137 เป็นกัมมันตภาพรังสี (radioactivity) จะปรากฏอาการตามระยะเวลาสัมผัส
หากสัมผัสในช่วงเวลาสั้นๆ อาจจะไม่มีผลต่อร่างกายที่ชัดเจน
สัมผัสในระยะเวลานานและปริมาณสูงขึ้น เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง ผมร่วง แผลเปื่อย
สัมผัสในปริมาณสูงและยาวนาน อาจเกิดพังผืดที่ปอด เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว เกิดต้อกระจกขึ้นในนัยน์ตา
นอกจากนี้ หากปนเปื้อนลงไปในน้ำ จะส่งผลให้เกิดการกลายพันธุ์ในสัตว์ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณการรับและการสะสม หากสัตว์รับสารรังสีเข้าไปจะเพิ่มความเข้มข้นสะสมในห่วงโซ่อาหาร แต่ “ยังไม่มีผลยืนยันที่ชัดเจน” ว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนระบบนิเวศน์ใต้ทะเลหรือไม่
วัตถุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่สูญหายนั้น มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว มีตะกั่วปกป้องอยู่ชั้นในและห่อหุ้มด้วยเหล็ก
.
ทั้งนี้ หากยังอยู่ใน “สภาพเดิม” จะไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยังค้นหาไม่พบ