21 ก.ค.64 - ความหวังเกษตรกรไรมันสำปะหลัง ม.สุรนารี เร่งศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการงอกและให้ผลผลิตมันสำปะหลัง “เกษตรศาสตร์ 72” ชูการปลูกแบบแนวนอน ช่วยประหยัดท่อนพันธุ์ 1.6 เท่า
นายวีระชัย เข็มวงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 (สสก.1) จังหวัดชัยนาท เปิดเผยว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ เกษตรกรในจังหวัดลพบุรีได้หันมาปลูกมันสำประหลังพันธุ์เกษตรศาสตร์ 72 (MKULB 08-2-32) เพิ่มมากขึ้น ด้วยเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคกลางตอนบน ที่มีลักษณะดินเป็นดินเหนียวสีดำ เช่น จังหวัดลพบุรี นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ รวมทั้งมีจุดเด่นเรื่องความทนแล้ง เจริญเติบโตรวดเร็ว ให้ผลผลิตสูง และปรับตัวต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
ทั้งนี้ วิธีการปลูกท่อนพันธุ์มันสำปะหลังลงในแปลง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิต โดยรูปแบบแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ การปักลงในแนวตั้งฉากกับพื้น และการวางท่อนพันธุ์ในแนวระนาบนอนไปกับพื้น
จึงส่งต่อให้ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร (ศพส.) จังหวัดลพบุรี ศึกษาการงอกและการให้ผลผลิต เพื่อให้ได้แนวทางการปลูกมันสำปะหลังที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ก่อนจะส่งเสริมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังต่อไป
ด้านนายสุรสิทธิ์ บุญรักชาติ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดลพบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการศึกษาร่วมกับ ม.สุรนารรี พบว่า ระบบการปลูกมันสำปะหลังทั้ง 2 ลักษณะแนวตั้งและแนวนอน มีการเจริญเติบโต และการให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน โดยระบบปลูกแบบปักท่อนพันธุ์ในแนวตั้งให้ผลผลิตเฉลี่ย 3,572.33 กิโลกรัมต่อไร่ และระบบปลูกแบบการปลูกโดยวางท่อนพันธุ์ในแนวระนาบนอนไปกับพื้น ให้ผลผลิตเฉลี่ย 3211.70 กิโลกรัมต่อไร่
แต่พบว่า ระบบการปลูกแบบวางท่อนพันธุ์ในแนวระนาบนอนไปกับพื้น จะใช้ท่อนพันธุ์จำนวนที่น้อยกว่า จะประหยัดต้นทุนค่าท่อนพันธุ์ได้ถึง 1.6 เท่า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนค่าท่อนพันธุ์ รวมถึงค่าจ้างปลูกลงได้ในอนาคต