X
สธ.สั่งเพิ่มเฝ้าระวัง ลาว ติดเชื้อแอนแทรกซ์พุ่ง 54 ราย

สธ.สั่งเพิ่มเฝ้าระวัง ลาว ติดเชื้อแอนแทรกซ์พุ่ง 54 ราย

27 มี.ค. 2567
880 views
ขนาดตัวอักษร

ปลัด สธ. สั่งกำชับหน่วยงานควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังฯ อย่างใกล้ชิด หลัง สปป.ลาว รายงานพบ ผู้ป่วย 54 ราย และสัตว์...ป่วยตาย ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ชี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ส่วนใหญ่เป็นแผลทางผิวหนัง หาก โค - กระบือ ตายผิดปกติ ให้แจ้งปศุสัตว์ หรือ อปท.

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย ไทยไม่พบผู้ป่วยโรค “แอนแทรกซ์” ตั้งแต่ปี 2544 กำชับหน่วยงานควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังโรคในคนอย่างใกล้ชิด ภายหลัง สปป.ลาว รายงานพบ ผู้ป่วย 54 ราย และพบ สัตว์ป่วยตาย ตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค. ชี้เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ส่วนใหญ่ เป็นแผลทางผิวหนัง สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และหากพบ โค - กระบือ ป่วยตายผิดปกติ ให้แจ้งปศุสัตว์ หรือ อปท.



วันนี้ (27 มีนาคม 2567) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) พบผู้ป่วย โรคแอนแทรกซ์ 54 ราย และพบ สัตว์ป่วยตาย ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ว่า ประเทศไทย ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยโรคนี้ ตั้งแต่ปี 2544 หลังมีรายงานการเกิดโรคใน สปป.ลาว ได้กำชับให้ กรมควบคุมโรค ประสานหน่วยงานในพื้นที่ เพิ่มการเฝ้าระวังโรค ทั้งในคน และสัตว์ โดยเฉพาะด่านช่องทางเข้าออก ที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

หากพบผู้ป่วย ที่มีอาการเข้าได้กับ โรคแอนแทรกซ์ จะมีการสอบสวนโรค และรายงาน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทันที สำหรับประชาชน หากพบ โค - กระบือ ป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือ แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่สำคัญ ห้ามสัมผัส เคลื่อนย้ายซาก หรือชำแหละ เพื่อการบริโภคโดยเด็ดขาด และหากมีประวัติสัมผัสสัตว์ป่วย แล้วมีอาการผิดปกติ ให้รีบพบแพทย์ ซึ่งโรคนี้ สามารถรักษาให้หายได้ ด้วยยาปฏิชีวนะ



นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า จากการติดตามข้อมูลของ สปป.ลาว พบว่า มีการออกประกาศ แนวทางควบคุมโรค อย่างเข้มงวด ทั้งห้ามซื้อขาย และเคลื่อนย้ายสัตว์ เข้าออกภายในเมือง โดยเด็ดขาด ห้ามโรงฆ่าสัตว์ชำแหละ โค - กระบือในเมือง ห้ามประกอบอาหารจากสัตว์ ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ให้เจ้าของกักขังสัตว์เลี้ยงของตน เพื่อติดตามอาการ หากสัตว์ป่วยซึม ไม่กินอาหาร ขาบวม ท้องโต ให้แยกออกจากฝูง แล้วทำการรักษา และให้ติดตามเฝ้าระวัง สัตว์เลี้ยงอย่างใกล้ชิด หากเกิดโรค ให้รายงานสัตวแพทย์ในพื้นที่

สำหรับ โรคแอนแทรกซ์ เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แบบเฉียบพลัน จากเชื้อ Bacillus anthracis เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน เกิดหลังสัมผัส เชื้อขณะชำแหละสัตว์ป่วย หรือสัมผัสซากสัตว์ ที่ป่วยตาย โดยเฉพาะวัว ควาย หรือสัตว์กินหญ้า



อาการป่วย แบ่งเป็น 3 ระบบ ตามการสัมผัสเชื้อ คือ

1. อาการ ทางผิวหนัง จะมีแผลลักษณะคล้ายบุหรี่จี้ บริเวณที่สัมผัสเชื้อ คือ แผลเป็นสีดำ และขอบบวมแดง

2. อาการ ระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทาน เนื้อสัตว์ป่วยตายดิบ ๆ หรือ ปรุงไม่สุก ทำให้มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดท้องอย่างรุนแรง **มีอัตราป่วยตาย ร้อยละ 50 - 60**

3. **อาการ ระบบทางเดินหายใจ** จากการหายใจ เอาสปอร์เชื้อเข้าไป ทำให้มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ ปอดอักเสบ และ **เสียชีวิตได้ อัตราการป่วยตายสูงถึง ร้อยละ 80 - 90** แต่มีความเสี่ยงน้อยมาก ที่จะแพร่โรคจากคนสู่คน


นอกจากนี้ Backbone MCOT มีข้อมูลเกี่ยวกับ อาการของ โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) จาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และ สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งระบุข้อมูลไว้ตรงกันว่า เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย แบบเฉียบพลัน โดยอาการของโรคนี้ กรณีติดเชื้อทางผิวหนัง ภายใน 2 - 6 วัน แผลจะเริ่มยุบตรงกลาง เป็นเนื้อตายสีดำ รอบ ๆ อาการบวมน้ำปานกลาง ถึงรุนแรง

สำหรับ สัตว์ที่ป่วยติดเชื้อโรคแบบเฉียบพลัน จะตายอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 1 - 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบรุนแรง จะตายภายใน 1 - 2 วัน

ทั้งนี้ สามารถติดตาม อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับโรคดังกล่าว ได้เพิ่มเติม (ตามที่อยู่ ลิงก์ด้านล่างนี้)

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โดย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
https://www.pidst.or.th/A249.html

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โดย สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
https://niah.dld.go.th/webnew/knowledge/knowledge-major-diseases-in-animals/animal-diseasesto-humans/anthrax


#BackboneMCOT
อ้างอิง และขอบคุณข้อมูล จาก :

เว็บไซต์ : สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
https://pr.moph.go.th

เฟซบุ๊ก : กระทรวงสาธารณสุข
https://www.facebook.com/fanmoph

เว็บไซต์ : กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
https://ddc.moph.go.th

เว็บไซต์ : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย
https://www.pidst.or.th

เว็บไซต์ : สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
https://niah.dld.go.th



Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)