เคยเห็นกันไหม? “ตุ๊กแกบินหางหยัก” หรือตุ๊กแกบินหางเฟิน หนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 น้องมักจะออกหากินเวลากลางคืน หากถูกรบกวนจะหยุดนิ่งพรางตัวแนบไปกับเปลือกไม้
“ตุ๊กแกบินหางหยัก” มีลักษณะเป็นตุ๊กแกที่มีแผ่นหนังแผ่ออกมาจากข้างแก้ม แผ่นหนังยึดตลอดความยาวของสีข้างและแผ่นหนังที่โคนขา รวมทั้งมีแผ่นพังผืดยึดกว้างระหว่างนิ้วเท้าทั้งสองคู่ หัว ลำตัว ตลอดจนหางมีลักษณะแบนราบมาก เกล็ดบนลำตัวละเอียด แทบไม่พบเกล็ดขนาดใหญ่แทรกปะปนอยู่เลย ใต้ท้องมีเกล็ดเล็กละเอียด โดยเฉพาะด้านใต้ของแผ่นหนังที่แผ่อยู่ที่สีข้าง หางยาวไล่เลี่ยกับความยาวของหัวและลำตัว มีขอบทั้งสองข้างเป็นหยักๆ คล้ายชายครุยเสื้อผ้า หรือคล้ายใบย่อยของเฟิน แต่ส่วนปลายหางมักมีหยักไม่ค่อยชัดเหมือนส่วนโคนหาง สีลำตัวเป็นลายพลางตัวคล้ายเปลือกไม้แห้ง สีพื้นออกน้ำตาลเทา บนหัวสีคล้ำกว่าลำตัว หลังมีลายสีคล้ำเลอะๆ พาดขวาง ดูคล้ายเป็นสี่แถว สีหลังค่อยๆจางสู่ด้านใต้ท้อง หางมีแต้มคล้ำกับสีจาง สลับกันไปมา หรืออาจดูเป็นปล้องลางๆ สีดำสลับขาว
อุปนิสัย ซุกซ่อนตัวโดยการมุดเข้าในซอกระหว่างกิ่งหรือใต้เปลือกไม้ แล้วม้วนหางเป็นวงกลม ซุกไว้ข้างลำตัว หากถูกรบกวนจะมุดหนีลึกเข้าไปซอกหรือใต้เปลือกหากมีที่ว่างพอ หรือไม่ก็ไต่ออกมาหนีขึ้นสู่เรือนยอดแล้วโผร่อนไปยังต้นใม้ที่อยู่ใกล้เคียง ออกหากินเวลากลางคืน หากถูกรบกวนจะหยุดนิ่งพรางตัวแนบไปกับเปลือกไม้ ทำให้สังเกตเห็นได้ยาก เมื่อถูกจับตัวได้จะพยายามสลัดหางทิ้ง และพยายามใช้ปากกัดเพื่อป้องกันตัว
นอกจากนี้น้องยังมีสถานภาพเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา