2 พ.ค.68 – “วัว” ไม่เพียงเป็นสัตว์เลี้ยง หรือสัตว์เศรษฐกิจ แต่ในบางสถานที่ หรือบางเหตุการณ์สำคัญ “วัว” เป็นหนึ่งในส่วนประกอบของความเชื่อ และศรัทธา โดยเชื่อกันว่าสัตว์ชนิดนี้ “เป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์”
“วัว” มุมหนึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่มีประโยชน์อย่างมาก สามารถนำมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายทั้งอุปโภคบริโภค ส่วนอีกมุมหนึ่ง “วัว” เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อความศรัทธา ด้วยเช่นกัน ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีรากมาจากอดีต ที่ส่งและสานต่อมาถึงปัจจุบัน แล้วทำไม “วัว” ถึงมีความสำคัญมากเช่นนี้ได้
•
ย้อนกลับไปในสมัยพระเวท 4,000 ปีก่อน เป็นสัตว์สำคัญในวัฒนธรรมของชาวอารยัน เพราะวัวเป็นสัตว์ที่ให้น้ำนมและใช้งานที่หลากหลาย เลี้ยงดูชีวิตของชาวอารยันมาทุกยุคสมัย โดยในคัมภีร์ฤคเวท กล่าวไว้ว่า “โคนำความโชคดีมายังพวกเรา และยังให้นมกับพระอินทร์ทุกวัน นำความปิติมาให้กับชาวนา” ส่วนในคัมภีร์พระเวท วัวได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมารดา 7 ประเภท ที่ชาวฮินดูให้ความเคารพ คือ อะทิมาตา มารดาผู้ให้กำเนิด , คุรุ ปัตนี ภรรยาของอาจารย์ , พราหมณี ภรรยาของพราหมณ์ผู้ทำหน้าที่ประกอบพิธีกรรม , ราชา ปะทริกา มเหสีของพระราชาคือพระราชินี , เธนุ วัว , ธาตรี นางพยาบาล และ ตะถา ปะฐะวี แม่พระธรณี
•
นอกจากนี้ตามคติของศาสนาพราหมณ์ ตำนานกล่าวว่า โคอุสุภราช (เผือกผู้) มีนามว่า พระนนทิ ถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งสัตว์จัตุบาท พระนนทิจะแปลงรูปเป็นโคให้พระอิศวรทรง ซึ่งจากความเชื่อนี้คนอินเดียจึงไม่ทานเนื้อวัว จึงมี “วัว” เยอะมากในประเทศอินเดีย
•
“วัว” ยังมีบทบาทอย่างมาในความเชื่อของฮินดู เชื่อว่า “วัว” เป็นสัญลักษณ์ของดินและโลกและเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ เป็นสัตว์สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ เห็นได้จากความเชื่อในรูปลักษณ์ของ “พระแม่ปฤถิวี” หรือเทพีแห่งผืนแผ่นดิน เชื่อว่ามีรูปลักษณ์เป็นแม่โค ชาวฮินดูจึงถือว่า “วัว” เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตและการดำรงอยู่ของชีวิต เคารพเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถทำนายความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองได้ ส่วนในคัมภีร์อัคนิปุราณะ กล่าวไว้ว่า วัวเป็นสัตว์บริสุทธิ์ เป็นสัตว์มงคล การเลี้ยงวัวต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี การให้วัวกินหญ้าให้ดื่มน้ำอาบน้ำให้วัว เป็นกิจที่ควรสรรเสริญยกย่อง ผู้ที่ให้อาหารแก่วัวแค่คำเดียวก่อนจะกินข้าวเอง จะเข้าถึงสุคติสวรรค์ อีกทั้งผู้ที่บริจาควัวเป็นทานจะได้บุญทั้งครอบครัว ที่แห่งใดมีวัวอาศัยอยู่ ที่แห่งนั้นถือว่าบริสุทธิ์ การได้สัมผัสและดูแลวัวถือว่าได้ชำระบาปและนี่ก็เป็นที่มาของการเลือกใช้ “วัว” เป็นส่วนหนึ่งของการทำนายในพระราชพิธีที่สำคัญของไทย “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” อีกด้วย
“พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” หรือวันพืชมงคล ของประเทศไทย ได้รับอิทธิพลมาจากพิธีพราหมณ์ของประเทศอินเดีย ซึ่งชาวฮินดูถือว่า “วัว” เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยเป็นพาหนะของพระศิวะ ชาวอินดูยังเชื่อว่า “ขี้วัว” ถือเป็นเครื่องชำระล้างให้จิตใจ ชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ และเป็นมงคล ซึ่งพระโคในทางศาสนาพรามหณ์ หมายถึง เทวดาผู้ทำหน้าที่เป็นพาหนะของ พระอิศวร ซึ่งเปรียบได้กับการใช้แรงงานและความเข้มแข็ง และเป็นสัตว์เลี้ยงที่พระกฤษณะและพระพลเทพดูแล ซึ่งเปรียบได้กับความอุดมสมบูรณ์ ดังนั้น ในการประกอบพระราชพิธี จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จึงได้กำหนดให้ใช้พระโคเพศผู้เข้าร่วมพระราชพิธีเสมอมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เพื่อเป็นตัวแทนของความเข้มแข็งและความอุดมสมบูรณ์
โดยพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะคัดเลือกพระโค เพื่อใช้ในพระราชพิธีฯ การคัดเลือกโคเพื่อเป็นพระโคตามหลักเกณฑ์จะต้องเป็นโคที่มีลักษณะดี รูปร่างสมบูรณ์ มีความสูงไม่น้อยกว่า 150 เซนติเมตร ความยาวลำตัวไม่น้อยกว่า 120 เซนติเมตร ความสมบูรณ์รอบอกไม่น้อยกว่า 180 เซนติเมตร โคทั้งคู่จะต้องมีสีเดียวกัน ผิวสวย ขนเป็นมัน กิริยามารยาทเรียบร้อย ฝึกง่าย สอนง่ายไม่ดุร้าย เขาลักษณะโค้งสวยงามเท่ากัน ตาแจ่มใส หูไม่มีตำหนิ หางยาวสวยงามดี มีขวัญหน้า ขวัญทัดดอกไม้ซ้ายขวา และขวัญหลังถูกต้อง มีขาและกีบข้อเท้าแข็งแรง มองดูด้านข้างลำตัวจะเป็นสี่เหลี่ยม ซึ่งในปี 2568 กรมปศุสัตว์ได้ทำการคัดเลือกพระโคเพื่อใช้ในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ จำนวน 2 คู่ คือ พระโคแรกนาขวัญ 1 คู่ ได้แก่ พระโคพอ พระโคเพียง , พระโคสำรอง 1 คู่ ได้แก่ พระโคเพิ่ม พระโคพูล
ทำไม “พระโค” ที่เลือกต้องเป็น “โคขาวลำพูน” กระทรวงเกษตรฯ บอกไว้ว่า “โคขาวลำพูน” เป็นโคพื้นเมืองที่เกิดจากฝีมือและผลงานของชาวบ้านในจังหวัดลำพูน มีการพัฒนาสายพันธุ์มานานกว่า 100 ปี บางท่านเล่าว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของโคพื้นเมืองในสมัยพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญไชยพระองค์แรก เมื่อ 1,340 ปีก่อน และเป็นสัตว์คู่บารมีของชนชั้นปกครอง โดยนิยมเลี้ยงมากในจังหวัดลำพูนและเชียงใหม่ ก่อนแพร่กระจายไปยังจังหวัดลำปาง พะเยา และเชียงราย มีลักษณะที่โดดเด่นคือมีรูปร่างสูงใหญ่ สูงโปร่ง ลำตัวมีสีขาวตลอด พู่หางขาว หนังสีชมพูส้ม จมูกสีชมพูส้ม เนื้อเขาเนื้อกีบสีน้ำตาลส้ม จากลักษณะเด่นเป็นสง่าดังกล่าว จึงได้ถูกคัดเลือกให้เป็นพระโคในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
•
ในตำนานกวนเกษียรสมุทร ก็มี “วัวหรือโค” เข้าไปเกี่ยวข้อง ชื่อว่า โคกามเธนุ แม่โคสำคัญที่สุดในตำนานปกรณัมฮินดูมีชื่อว่า กามเธนุ หรือ สุรภี การกำเนิดของโคกามเธนุ มาจากตำนานการกวนเกษียรสมุทร ที่ทำให้เกิดของวิเศษผุดขึ้นมาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ แม่โควิเศษชื่อว่ากามเธนุหรือสุรภี แม่โคสารพัดนึกที่สามารถให้ผลผลิตได้ไม่หมดสิ้น และพระพรหมได้มอบโคนี้ให้แก่เหล่าฤษี เพื่อใช้นมทำน้ำมันเนย (ฆี) มาประกอบพิธีบูชาไฟ นั้นเอง
•
ในตำนาน พระศิวะ พระกฤษณะ ก็มีวัว เป็นส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญ ชื่อว่า “นนทิ” เป็นวัวตัวผู้ มีสีขาว เป็นพาหนะของพระศิวะ หรือพระอิศวร เทพสูงสุดในศาสนาฮินดู เราจะเห็นได้ว่าเทวรูปของพระศิวะมักจะมีวัวสีขาวเคียงข้างเสมอ เทพอีกองค์หนึ่งที่ผูกพันกับวัวคือ พระกฤษณะ ด้วยสมัยที่พระองค์เป็นวัยรุ่นเคยเลี้ยงวัวและใช้ชีวิตกลางฝูงวัว จึงมีพระนามว่า โควินทะ แปลว่า เป็นที่ชื่นชมของวัว และ โคปาละ แปลว่า ผู้ดูแลวัว
•
ขอบคุณที่มา :
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เว็บไซต์วิทยุจุฬา