X
เปิดที่มา “เกาะกูด” อันดามันตะวันออกของไทย

เปิดที่มา “เกาะกูด” อันดามันตะวันออกของไทย

29 ก.พ. 2567
3370 views
ขนาดตัวอักษร

“เกาะกูด” แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของไทย ที่สวยจนได้รับฉายาอันดามันตะวันออก อยู่ดีๆกลับกลายเป็นประเด็นข้อพิพาทเขตแดนทางทะเลขึ้นมา เมื่อกัมพูชาได้ลากเส้นเขตแดนผ่านเกาะกูด เพื่ออ้างสิทธิทางทะเล เราเลยขอพาไปดูความเป็นมาของเกาะกูดกัน ว่าจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีบันทึกไว้พื้นที่นี้เป็นของใครกันแน่


สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้ลงข้อมูลเกี่ยวกับเกาะกูด ไว้ว่า เกาะกูดปรากฏชื่อเป็นครั้งแรกในเอกสารประวัติศาสตร์พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน นักวิชาการให้ความเห็นว่าเกาะกูดซึ่งอยู่ในจังหวัดตราด  ดินแดนทางภาคตะวันออกสุดเมื่อราว 65 ล้านปี ได้แยกตัวออกมาจากส่วนปลายทิวเขาบรรทัดที่เป็นหินทราย


จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกาะกูดปรากฏในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1  ปีพุทธศักราช 2325  ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับที่ก่อตั้งกรุงเทพมหานคร เมื่อองค์เชียงสือ  เจ้าเมืองญวณ  และครอบครัวได้หลบหนีกองทัพขององค์ไกเซินเจ้าเมืองกุยเยินที่ยกมาตีเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพมหานคร ต่อมาในปีจุลศักราช 11 (พ.ศ.๒๓๒๙) องค์เชียงสือคิดกอบกู้บ้านเมืองคืน ครั้นจะกราบทูลลาออกไปก็เกรงพระอาญา ด้วยการศึกพม่ายังรบพุ่งติดพันกันอยู่จึงเขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาแล้วหนีออกมาพร้อมด้วยองญวณอีกหลายคน หนีออกจากรุงเทพฯ มาลงเรือที่เกาะสีชัง แล่นเรือชักใบมา 7 วัน จึงถึงเกาะกูดที่ไม่มีคนอยู่เลย ชนพื้นถิ่นดั้งเดิมของเกาะกูดส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีนที่อพยพมาจากเมืองปัจจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ที่ตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเมื่อปี พ.ศ.2447 มีหมู่บ้านคลองมาดเป็นหมู่บ้านที่เก่าแก่ที่สุด


เดิมเกาะกูดเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับตำบลเกาะหมาก อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด  ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นตำบลเกาะกูด  เมื่อปี  พ.ศ.2523  ตัวเกาะกูดมีระยะห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ  40  กิโลเมตร  ประชาชนชาวเกาะกูดมีความยากลำบากในการเดินทางไปติดต่อราชการ  ประกอบกับเกาะกูดอยู่ใกล้ดินแดนประเทศกัมพูชาด้านเกาะกงมากกว่าฝั่งไทย  ทางราชการจึงมีนโยบายเพื่อความมั่นคงและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  โดยได้ยกฐานะเกาะกูดและเกาะข้างเคียงขึ้นเป็น  กิ่งอำเภอเกาะกูด  ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่  19  มกราคม  2533  โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่  1  เมษายน  2533  ต่อมาได้ยกฐานะจากกิ่งอำเภอเกาะกูดเป็น  อำเภอเกาะกูด  ตามราชกิจจานุเบกษาเล่มที่  124  ตอนที่  46ก  ลงวันที่   24  สิงหาคม  2550  โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  8  กันยายน  2550


นอกจากนี้ เฟซบุ๊กเพจโบราณนานมา ซึ่งเป็นเพจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และข้อมูล ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเกาะกูด ว่า นอกจากกัมพูชาจะไม่มีวันได้ครอบครอง “เกาะกูด” แล้ว กัมพูชาควรคืน “ประจันตคีรีเขตร (เกาะกง)” อดีตเมืองคู่แฝดประจวบคีรีขันธ์ ให้ประเทศไทย 


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเมืองใหม่ให้ 2 เมืองที่อยู่ในเส้นรุ้ง  (ละติจูด : latitude) เดียวกัน แต่อยู่คนละฝั่งอ่าวไทยให้เป็นเมืองคู่กัน คือ “เมืองนางรมย์” เป็น “ประจวบคีรีขันธ์” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกกับ “เกาะกง” เป็น “ประจันตคีรีเขตร” ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออก ให้มีชื่อคล้องจองกัน โดยมีประกาศ เมื่อวันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2398 


ในสมัยนั้นเมื่อฝรั่งเศสยึดญวน (เวียดนาม) และเขมร (กัมพูชา) ได้แล้ว ก็พยายามรุกเข้าลาว ซึ่งอยู่ในความปกครองของสยาม และพยายามบีบสยามทุกวิถีทาง โดยถือว่ามีอาวุธที่เหนือกว่า เมื่อเกิดกบฏฮ่อขึ้นในแคว้นสิบสองจุไท และสยามกำลังจะยกกำลังไปปราบ ฝรั่งเศสก็ชิงส่งทหารเข้าไปปราบเสียก่อน อ้างว่าเพื่อช่วยสยาม แต่เมื่อปราบฮ่อได้แล้วฝรั่งเศสก็ไม่ยอมถอนทหารออก ถือโอกาสยึดครอง เพราะมีเป้าหมายจะยึดดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด


ในที่สุดวันประวัติศาสตร์ที่คนไทยจะต้องจดจำก็คือ 13 กรกฎาคม 2436 ซึ่งเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำฝ่าแนวยิงของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดหน้ากงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ และยังเรียกเรือรบจากฐานทัพไซ่ง่อนอีก 10 ลำมาร่วมปิดอ่าวไทย ต่อมาได้ส่งทหารขึ้นยึดเกาะสีชังเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม จนการค้าขายต้องหยุดชะงักหมด ยื่นเงื่อนไขให้สยามถอนทหารออกจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดภายใน 1 เดือน ให้วางเงินทันที 3 ล้านฟรังก์ ยื่นข้อเรียกร้องให้สยามตอบภายใน 48 ชั่วโมง


รัฐบาลสยามรู้ดีว่าข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสเป็นเรื่องไม่ยุติธรรม แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ พยายามต่อรองบ่ายเบี่ยงแต่ก็ไม่สำเร็จ ในที่สุดก็ต้องยอมลงนามในสัญญาข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสในวันที่ 3 ตุลาคม


ในระหว่างที่ทั้งสองฝ่ายออกสำรวจปักปันเขตแดนนั้น ฝรั่งเศสขอยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน เพื่อให้สยามปฏิบัติตามสัญญา ทั้งนี้เพราะฝรั่งเศสเห็นว่าจันทบุรีเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ซึ่งสยามก็ต้องยอมอีก


ฝรั่งเศสยึดจันทบุรีตั้งแต่ปี 2436 แต่เมื่อปักปันเขตแดนเสร็จสิ้น ฝรั่งเศสกลับหน่วงเหนี่ยวประวิงเวลา และบีบคั้นให้สยามเซ็นสัญญาอีกฉบับ ยอมยกดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งได้แก่เมืองหลวงพระบางฝั่งขวาและเมืองจำปาศักดิ์ โดยฝรั่งเศสจะยอมผ่อนคลายสิทธิ์สภาพนอกอาณาเขตให้ การผ่อนคลายนี้หมายถึงยกให้แก่คนเอเชียในบังคับของฝรั่งเศส แต่ยังไม่ยอมยกเลิกแก่คนฝรั่งเศส


สยามในเวลานั้นก็ต้องยอมอยู่ดี เซ็นสัญญาตามที่ฝรั่งเศสเรียกร้องนี้เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2446 เพื่อแลกกับจันทบุรีกลับคืน


แต่แล้วชั้นเชิงแบบหมาป่าก็ยังไม่สิ้น เพื่อเป็นหลักประกันให้สยามปฏิบัติตามสัญญานี้ ฝรั่งเศสขอยึดจังหวัดตราดและเกาะทั้งหลายตั้งแต่แหลมสิงห์ในอำเภอแหลมงอบ รวมทั้งเกาะกงซึ่งขณะนั้นเป็นจังหวัดประจันตคีรีเขตของสยาม ให้อยู่ในความปกครองของฝรั่งเศส และต้องรอให้ทั้งสองฝ่ายทำการสำรวจเส้นพรมแดนตามสัญญานี้ให้ฝรั่งเศสเสร็จเสียก่อน ฝรั่งเศสจึงจะยอมถอนทหารออกจากจันทบุรี

.

สยามก็ต้องยอมเช่นเคย การสำรวจเสร็จสิ้นลงในวันที่ 9 ธันวาคม 2447 ฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจากจันทบุรีในวันที่ 12 มกราคมต่อมา


ความอยากได้ดินแดนสยามของฝรั่งเศสยังไม่จบ มีจิตรกรฝรั่งเศสคนหนึ่ง ชื่อ อองรี อูโมต์ ได้เขียนรูปนครวัดนครธมไปเผยแพร่ ฝรั่งเศสเห็นเป็นสิ่งมหัศจรรย์เลยอยากได้ไว้เป็นสมบัติของตัว รวมทั้งอยากได้ทะเลสาบเสียมราฐอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์ จึงเสนอแลกตราดกับเสียมราฐ พระตะบองและศรีโสภณซึ่งเป็นมณฑลบูรพาของสยาม สยามอยากได้ตราด ซึ่งมีคนไทยอยู่คืนมาจึงยอมอีก 


ในสัญญาฉบับใหม่ที่ ลงวันที่ 23 มีนาคม 2449 ไทยต้องยกมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับ อำเภอด่านซ้ายของจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดตราด ตั้งแต่แหลมสิงไปจนถึงเกาะกูด แต่ไม่ยอมคืนจังหวัดประจันตคีรีเขตด้วย


เป็นอันว่า “จังหวัดประจันตคีรีเขตร” หรือ เกาะกง จึงต้องหลุดไปอยู่กับฝรั่งเศสตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนเป็นส่วนหนึ่งของเขมรในขณะนี้ ตอนนั้นมีคนไทยที่ไม่ยอมอยู่ใต้การปกครองของฝรั่งเศส ได้สละบ้านช่องย้ายมาอยู่เกาะกูดและจันทบุรีเป็นจำนวนมาก คนเขมรจากเมืองต่าง ๆ จึงย้ายเข้ามาแทนที่ ปัจจุบันในเกาะกง ปรากฏว่ามีชาวไทย เพียงร้อยละ 25 เท่านั้น 


ชาวไทยในเกาะกง จะมีสำเนียงแบบเดียวกับที่จังหวัดตราด แต่เดิมเกาะกงในปี 2506 ได้มีการออกกฎห้ามชาวเกาะกงพูดภาษาไทย โดยจะปรับเป็นคำละ 25 เรียล ห้ามมีเงินไทย และห้ามมีหนังสือไทยอยู่ในบ้าน หากเจ้าหน้าที่พบจะถูกทำลายให้สิ้นซาก ต่อมาในปี 2507 ค่าปรับการพูดภาษาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 50 เรียล แม้ชาวไทยเกาะกงจะถูกจำกัดสิทธิ์ทางภาษา วัฒนธรรม และประเพณีแต่ก็มีคนเฒ่าคนแก่ที่ยังรักษาประเพณี และเอกลักษณ์ การใช้ภาษาไทย


“ประจันตคีรีเขตร” เมืองคู่แฝดของ “ประจวบคีรีขันธ์” เหลืออยู่แต่เพียงชื่อไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น


อ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ..คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ เขียนเลย
Terms of Service © 2018 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล