14 พ.ย.66 - กรมการแพทย์แผนไทยฯ “ชู 5 สมุนไพรผักพื้นบ้าน และ 1 ตำรับยาไทย” ดูแลสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยเคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วยศาสตร์แผนไทย เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)
ชู 5 สมุนไพรผักพื้นบ้าน ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่
👉มะระขี้นก ตำลึง เตยหอม ผักเชียงดา และ ช้าพลู
👉พร้อมแนะนำ ยามธุระเมหะ ตำรับยาไทย ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด รักษาผู้ป่วยเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า “โรคเบาหวาน” เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หิวบ่อย มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บาดแผลหายช้า หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา
หลักการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน
•
ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยฯ จะเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อปรับให้ร่างกายเกิดสมดุล โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแป้ง และ น้ำตาล เน้นการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่
👉1.มะระขี้นก เป็นสมุนไพรรสขม มีสรรพคุณ แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร และมีสารสำคัญที่ชื่อ charantin ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถึงแม้จะมีรสขม แต่สามารถนำมาประกอบเมนูได้หลากหลายและช่วยลดความขมลงได้ เช่นแกงคั่วมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ผักรวม ดื่มแก้ดับกระหายและสดชื่น
👉2.ตำลึง เป็นสมุนไพรรสเย็น ใบและเถา ของตำลึงมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และ ยังมีคุณค่าทางด้านอาหารสูงนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกงจืด แกงเลียง และ ต้มเลือดหมู
👉3.เตยหอม มีรสหวานหอมเย็น ต้นและรากใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากจะใช้แต่งกลิ่น แต่งสีในเมนูขนมแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำเตยหอม ดื่มแก้กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น อีกด้วย
👉4.ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านของทางภาคเหนือ นำมาปรุงอาหาร ทำเป็นชาชง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
👉5.ช้าพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร และ ลดระดับน้ำตาลในเลือด การนำช้าพลูมารับประทานสามารถรับประทานได้ทั้งสุกหรือใบดิบ แต่ไม่ควรรับประทานใบสดมากเกินไป เพราะอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ และ อาจทำให้ เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะได้
•
“การรับประทานสมุนไพรผักพื้นบ้าน ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดได้ดี” คือ ตำรับยามธุระเมหะ
“สรรพคุณ ลดน้ำตาลในเลือด การใช้ยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนไทยแพทย์แผนไทยประยุกต์ ในสถานพยาบาล”
•
หลักสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และ ช่วยให้แข็งแรง คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ เหมาะสมกับร่างกาย เช่น กายบริหารท่าฤๅษีดัดตน การว่ายน้ำ รำมวยไทเก๊ก เดินเบาๆ และที่สำคัญควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
•
สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด หรือ มีความประสงค์ที่จะรักษาโรคเบาหวานด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยสามารถสอบถามข้อมูลกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาล ของรัฐทั่วประเทศได้ หรือสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
👉หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678
👉ช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph
👉line@DTAM