ประเพณีวันสงกรานต์ เป็นประเพณีฉลองการขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งโดยทั่วไปจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายน ตรงกับเดือน ๕ ตามจันทรคติ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยมีประเพณีวันสงกรานต์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ ให้ตราขึ้น กล่าวถึงการพระราชพิธีเผด็จศกและพระราชพิธีลดแจตร พระราชพิธีเผด็จศกเป็นพิธีการเกี่ยวกับการตัดจากปีเก่า ขึ้นสู่ปีใหม่ ส่วนพระราชพิธีลดแจตรนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่าหมายถึงพระราชพิธีรดน้ำเดือน ๕ แสดงให้เห็นว่าประเพณีวันสงกรานต์ของหลวงมีมาตั้งแต่ต้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยก่อนไทยใช้จุลศักราช การขึ้นปีใหม่จึงเป็นการขึ้นจุลศักราชใหม่
“สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า ก้าวขึ้น ย่างขึ้น หรือการเคลื่อนที่ย้ายที่ การกำหนดนับวันสงกรานต์ อยู่ระหว่างวันที่ 13, 14 และ 15 เมษายน ซึ่งทั้ง 3 วันจะมีชื่อเรียกเฉพาะ ดังนี้ วันที่ 13 เมษายน เรียกว่า มหาสงกรานต์ วันที่ 14 เมษายน เรียกว่า วันเนา และวันที่ 15 เมษายน เรียกว่า วันเถลิงศก หรือวันขึ้นศก คือ วันที่เริ่มเปลี่ยนจุลศักราชใหม่
สงกรานต์เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยโบราณคู่กับประเพณีตรุษ หรือที่เรียกรวมๆ กันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ ซึ่งหมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้วันที่ 31 ธันวาคม เป็นวันส่งท้ายปีเก่า และวันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2483 เช่นเดียวกับประเทศ อื่นๆ ทั่วโลก ส่วนกิจกรรมที่นิยมทำกันในวันสงกรานต์ มีทั้งการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ไปจนถึงการเล่นสาดน้ำ และการละเล่นต่างๆ