พระนครศรีอยุธยา ได้รับการยกย่องเป็นเมืองน่าไปเยือน ว่างๆวันหยุดไปไหว้พระกันครับ วัดใหญ่คนไปกันเยอะมันจะเบียดๆช่วงนี้ต้องมีระยะห่างทางสังคม ไปวัดร้างกันดีกว่า ขอแนะนำวัดร้างน่าไปเยือน เริ่มจาก
วัดกุฎีดาว และวัดมเหยงคณ์ แนะนำคู่เลยเพราะอยู่ใกล้กัน เริ่มจากวัดกุฎีดาว วัดเก่าที่ไม่ได้ระบุปีที่สร้างวัดอย่างชัดเจน หากยึดเอาหลักฐานทางพงศาวดารอาจบอกได้ว่า วัดกุฎีดาว น่าจะสร้างก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พงศาวดารเหนือ บันทึกไว้ว่า พระยาธรรมิกราช พระโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก พระมเหสีของพระองค์ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ ขึ้นคู่กัน ซึ่งถ้าเอาตำแหน่งที่ตั้งของวัดกุฎีดาว กับวัดมเหยงคณ์ มาพิจารณาก็มีความเป็นไปได้ เพราะวัดทั้งสองตั้งอยู่ใกล้กัน
ในคำให้การชาวกรุงเก่า บันทึกไว้ว่า พระบรมราชา ทรงสร้างวัดกุฎีทวา หรือกุฎีดาว พระภูมินทราธิบดี ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ มีการบูรณะวัดกุฎีดาวครั้งแรกในสมัยพระเจ้าเอกาทศรถ บูรณะครั้งที่สองในสมัยพระเจ้าท้ายสระโดยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อครั้งเป็นอุปราชเป็นแม่งานบูรณะ
ถ้าดูตามรูปทรงเจดีย์ประธาน ที่เป็นเจดีย์ทรงลังกา นิยมสร้างในพุทธศตวรรษที่21 เรื่อยมา พิจารณาโครงสร้างเจดีย์เป็นทรงมอญ ตรงกับข้อมูลว่าเคยมีชาวมอญอาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้วัดกุฎีดาว แม้แต่ผู้บูรณะเจดีย์ครั้งพระเจ้าเอกาทศรถก็มีบันทึกว่าเป็นชาวมอญที่เข้ามาในอโยธยาในเวลานั้น
วัดกุฎีดาว น่าจะสร้างในเวลาใกล้เคียงกับวัดมเหยงคณ์ เป็นวัดใหญ่ที่น่าจะเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง ตั้งอยู่นอกเกาะเมืองในพื้นที่เรียกว่า อโยธยา หรือ เมืองโบราณ ที่เคยมีอยู่ก่อนตั้งกรุงศรีอยุธยา หากดูสิ่งก่อสร้างของทั้งสองวัดเปรียบเทียบกัน เชื่อได้ว่าเป็นวัดที่สร้างในเวลาใกล้เคียงกันสิ่งที่ยืนยันว่าวัดแห่งนี้น่าจะมีความสำคัญ คือ อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ให้ความเห็นว่าผังของวัดเป็นผังศาสนสถานที่ใช้คติอินเดีย
สิ่งที่ตอกย้ำว่าวัดน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรือเก่ากว่านั้น คือ เสาสูง ในพระอุโบสถที่ทำให้เราคิดว่า พระอุโบสถเดิมน่าจะสูงใหญ่มาก มากกว่าแนวกำแพงและผนังที่เหลืออยู่ วัดกุฎีดาว เป็นวัดร้างอยู่นานหลังเสียกรุงศรีอยุธยา มีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี 2554-2556 ตำนานวัดกุฎีดาวไม่ได้หยุดอยู่ที่ความเก่าแก่ แต่มีเรื่องราวลึกลับ เรื่องราวเกี่ยวกับกรุสมบัติ และปู่โสมเฝ้าทรัพย์ จะว่าไปตำนานเรื่องนี้ยิ่งทำให้รู้สึกขนลุกเมื่อนึกถึงละคร พิศวาส ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับผู้พิทักษ์สมบัติของแผ่นดิน
วัดต่อมา วัดเตว็ด อยู่ทางทิศใต้ไม่ไกลจากวัดพุทธไธยสวรรย์ อยู่ริมคลองลัดสายเก่าที่ เรียกว่า ปทาคูจา บริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งชุมชนมอญ ความงามของวัดเตว็ดซ่อนอยู่บนหน้าบัน ตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ อาคารทรงตำหนัก เหลือแค่ผนังด้านสกัดที่มีจั่วสามเหลี่ยม ยกพื้นสูงก่ออิฐถือปูน หน้าต่างเจาะเป็นรูปโค้ง ความสวย ชนิดที่เห็นแล้วต้องหยุดดู คือ หน้าบันที่เป็นลายปูนปั้น เครือเถาว์แบบฝรั่ง ใบอะแคนตัส ใบไม้ที่นิยมใช้ในงานออกแบบในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หางหงส์เป็นรูปชายผมยาวเป็นลอนแบบฝรั่ง ส่วนแยกของลายเป็นลายนกคาบอันนี้เป็นของไทยแทรกไว้ ทำให้สงสัยว่าเหตุใด สิ่งก่อสร้างสวยงามวิจิตรถึงมาตั้งอยู่ตรงนี้
คำอธิบายเรื่องนี้ มาจากสองหลักฐานคือ พงศาวดาร ฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม บันทึกไว้ว่าสมเด็จพระอัครมหาสีฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา แห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งทรงพระนามว่า กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงโยธาเทพนั้นก็ทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน แล้วพาเอาพระราชบุตร ซึ่งทรงพระนามว่าตรัสน้อยนั้น ออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดพุทไธสวรรย์ บอกไว้ว่า คำวินิจฉัยของ อาจารย์ประยูร อุลุชาฎะ หรือ น. ณ ปากน้ำ ผู้ที่ศึกษาเกาะเมืองกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลานาน ให้ความเห็นไว้ว่า อาจเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาทิพ เจ้าฟ้ากรมหลวงโยธาเทพละกระมัง ท่านบวชชีอยู่วัดพุทไธสวรรย์ สำนักนางชีย่อมจะอยู่ไม่ให้ไกลวัด อีกประการหนึ่ง เหล่านางข้าหลวงและนางบริวารก็คงจะบวชตามเสด็จจนเป็นสำนักนางชีใหญ่โต สมัยนั้นคงจะรุ่งเรืองมาก ตัวท่านเป็นเจ้านายที่พระเจ้าแผ่นดินหลายพระองค์กลัวเกรงมาก
เจ้านายสตรีที่มีสิริโฉมงดงาม มีพระจริยวัตรที่ได้รับความชื่นชมมาก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็คือ 2 องค์ นี้ ถ้าไปอ่านพระประวัติ ก็จะยิ่งอินกับวัดเตว็ด เพราะ อาคารที่เราเห็น น่าจะเป็นกุฏีชี ของทั้งสองรูป สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ และกรมหลวงโยธาทิพ หากไปเยือนวัดกุฎีดาว จะมีศาลปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เป็นเครื่องเตือนใจ ถึงการมีอยู่ของผู้พิทักษ์รักษาและให้เราระลึกว่าสมบัติเป็นสิ่งที่เป็นของแผ่นดิน ย่อมเป็นของผู้ใดไปไม่ได้
ไปต่อกันที่วัดส้ม วัดเล็กๆ ตั้งอยู่ใกล้คลองฉะไกรใหญ่ ชมความงามของฐานรากเจดีย์และพระปรางค์ขนาดย่อม พระปรางค์วัดส้ม ถือเป็นพระปรางค์ที่เก่าที่สุดในเกาะเมืองอยุธยา ไม่มีปรางค์องค์ใดเก่ากว่านี้แล้ว จากสัดส่วนองค์พระปรางค์ที่ไม่สูงมากนัก ความเก่าของพระปรางค์วัดส้ม คือ "ทับหลัง" ถือเป็นทับหลังหนึ่งในสองชิ้นที่ไม่ได้อยู่กับปราสาทหิน ลวดลายที่ยังเหลืออยู่จะเห็นลายที่เป็นก้านโค้งม้วนไปมา ซึ่งลวดลายที่โค้งมนและมีใบไม้แบบนี้สามารถเทียบได้กับศิลปะของเขมรในยุคบายน
ของสวยอีกอย่างที่พระปรางค์วัดส้มคือลายปูนปั้นที่ประดับตั้งแต่ส่วนเรือนธาตุไปจนถึงส่วนยอด มีลายที่เรียกว่า "กรวยเชิง-เฟื่องอุบะ" กรวยเชิงคือส่วนฐาน เฟื่องอุบะเหมือนอุบะที่ห้อยลงมา ซึ่งกรวยเชิง-เฟื่องอุบะของวัดส้มมี 2 รุ่นด้วยกัน รุ่นเก่าหรือสมัยอยุธยาตอนต้นคือการปั้นฉาบปูนเรียบร้อยจากนั้นใช้วัสดุปลายมนกดขึ้นรูปให้เป็นลวดลาย ลายจะมีลักษณะโค้งมนชัดเจน