วัด ในพระพุทธศาสนา จำแนกตามแนวทางปฏิบัติและถิ่นที่ตั้งแบ่งเป็น คามวาสี วัดบ้านหรือวัดเมือง กับ อารัญวาสี วัดป่า วิธีการแบ่งนี้แบ่งมาตั้งแต่สมัยโบราณ การแบ่งวัดแบบนี้เป็นการแบ่งแนวทางปฏิบัติของพระสงฆ์ด้วย คือ ฝ่ายคามวาสีกับฝ่ายอรัญวาสี
คามวาสี คือ พระที่อยู่ในหมู่บ้านหรืออยู่ในตัวเมือง ทำหน้าที่คันถธุระ มุ่งการปริยัติคือการศึกษาและการบริหารปกครองเป็นหลัก
อรัญวาสี คือ พระที่อยู่ในป่าห่างจากชุมชน ทำหน้าที่วิปัสสนาธุระ มุ่งการปฏิบัติเป็นหลัก นิยมเรียกว่า พระป่า
เหตุที่ วัดป่า ได้รับความศรัทธา มาจากการไปทำบุญหรือปฎิบัติธรรมที่วัดป่า จะได้พบ พระป่า พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ หากได้ทำบุญกับท่านเหล่านี้จะได้บุญกุศลมาก อุปมาเหมือนการหวานเมล็ดพันธุ์ลงบนดินที่อุดมสมบูรณ์ย่อมได้ผลผลิตที่เพิ่มพูนมากมายฉะนั้น
วัดป่าในเมืองไทยตั้งแต่อดีต ล้วนมีพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นผู้ควรแก่การคารวะ บูชา อาทิ วัดป่าสุทธาวาส (หลวงปู่มั่น) วัดป่าบ้านตาด (หลวงตามหาบัว) วัดป่าสาลวัน (หลวงพ่อพุทธ) วัดป่าอุดมสมพร (หลวงปู่ฝั้น) วัดถ้ำกลองเพล (หลวงปู่ขาว) วัดป่านานาชาติ (หลวงพ่อชา) ฯลฯ ความศรัทธาและความคาดหวังที่พุทธศาสนิกชนมองไปยังวัดป่าคือ สถานที่ที่สงบ เคร่งครัด ปฎิบัติธรรม ไม่ได้มุ่งวัตถุหรือการสะสมทรัพย์สิน
คนไทยมักจะถูกสั่งสอน เรื่อง เนื้อนาบุญ หากจะทำบุญให้ได้บุญมาก และมีโอกาสเลือกได้ พึงเลือกทำบุญในเนื้อนาที่อุดม คือพระที่ดี วัดที่ประเสริฐ บุญจะมากผลจะล้นทวีคูณ ปกติและแต่เดิมวัดป่าอุดมด้วยเนื้อนาบุญ พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเป็นธรรม หาใช่เดียรถีย์ผู้เป็นเดรฉานปลอมบวชไร้ยางอายเช่นที่ปรากฏผลวิบากกรรมตามกระแสข่าวนั้น