15 มิ.ย.66 - โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ออกหนังสือชี้แจง กรณีไม่ให้ “หยก” เข้าเรียน ไม่ใช่เพราะแต่งไปรเวท หรือทำสีผม แต่เพราะการมอบตัวไม่สมบูรณ์แต่แรก เหตุติดต่อผู้ปกครองหยกไม่ได้
•
หลังเกิดกระแสข่าวจนเป็นข้อถกเถียงในสังคมถึงกรณีที่ “หยก” เยาวชนวัย 15 ปี ถูกโรงเรียนปฏิเสธไม่ให้เข้าเรียนเนื่องจากแต่งตัวไปรเวท และทำสีผม โดยบุคลากรของโรงเรียน เปิดเผยว่า เหตุการณ์เมื่อวาน มีการเรียกหยกเข้าไปพูดคุยจริงแต่ทางโรงเรียนไม่ได้มีการไล่ออกตามที่หยกเข้าใจ แต่ทางโรงเรียนต้องการพบผู้ปกครองที่แท้จริงของน้องเพื่อพูดคุยถึงปัญหาและร่วมกันหาทางออก เพราะตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่หยกเข้ามามอบตัว ผู้ที่พามาก็ไม่ใช่ผู้ปกครองที่เป็นพ่อแม่ของน้อง
•
ซึ่งโรงเรียนได้เจอแม่ของน้องครั้งล่าสุดคือช่วงเมษายน ที่มาขอให้ช่วยผ่อนผันเวลาการมอบตัวชั้น ม.4 ซึ่งโรงเรียนก็ให้โอกาส แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถติดต่อผู้ปกครองที่แท้จริงของน้องได้อีกเลย
•
ซึ่งหลังจากเปิดเทอมมาน้องก็มาเรียนบ้างไม่มาเรียนบ้าง และมักจะแต่งชุดไปรเวทมาเรียน ซึ่งผิดกฎระเบียบของโรงเรียน ครูเรียกน้องมาตักเตือนหลายครั้ง ซึ่งทางโรงเรียนก็พยายามทั้งโทรหาผู้ปกครอง และไปหาที่บ้านแต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้
•
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่าโรงเรียนไล่ออกนั้นไม่เป็นความจริง ซึ่งตามระเบียบการเข้ามอบตัวของโรงเรียน ในวันมอบตัวจะต้องมีผู้ปกครองตามกม. มาเซ็นรับรอง แต่กรณีของน้องหยกคนที่มาไม่ใช่ผู้ปกครองทำให้การมอบตัวไม่สมบูรณ์แต่แรก ยืนยันว่าโรงเรียนให้โอกาสและหาทางติดต่อผู้ปกครองมาตลอดเพราะหากเด็กไม่สามารถรับกับกฎของโรงเรียนจึงพร้อมพูดคุยว่าติดปัญหาอะไร ก็จะช่วยเหลือ และจะตั้งคณะกรรมการมาหาทางออกในเรื่องดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามจะต้องติดต่อผู้ปกครองที่ถูกต้องตามกฎมายของน้องเพื่อหาทางออกร่วมกันให้ได้
•
ด้านนายอภิเชษฐ์ งามสง่า ตัวแทนผู้ปกครองทุกชั้นปีโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของผู้ปกครองนักเรียนกว่า 4,000 คน ได้แสดงความไม่สบายใจและอยากให้โรงเรียนดำเนินการโดยคำนึงถึงเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในการปฏิบัติตามระเบียบที่มีร่วมกัน และอยากให้หาทางออกด้วยการเจรจาที่จะเป็นผลดีต่อทุก ๆฝ่าย และก็เห็นใจ เข้าใจว่าครูทุกคนก็หวังดีต่อลูกศิษย์
สำหรับโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ได้ออกหนังสือประกาศคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ระบุว่า
•
เรื่อง แถลงการณ์กรณี นางสาวธนลภย์ ตามที่ นางสาวธนลภย์ มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามสื่อต่างๆ และช่องทางโซเชียลมีเดีย นั้น คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ สมาคมนักเรียนเก่าเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ชมรมครูเก่าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ และสภานักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ขอแถลงการณ์ ดังนี้
•
1. นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2565 ซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมาย วันที่ 1 เมษายน 2566 มารดาของนางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ได้มาบันทึกขอเลื่อนการมอบตัวเพื่อศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โรงเรียนได้รับรายงานตัวนางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ไว้ก่อน เพื่อรักษาสิทธิ์ในการศึกษาต่อ(หลังจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง บ้านปรานี จังหวัดนครปฐม ได้ปล่อยตัว ในคดีมาตรา 112) ซึ่งในการรายงานตัวดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในการมอบตัวตามประกาศการรับนักเรียน ปีการศึกษา 2566 ที่กำหนดให้นักเรียนต้องมามอบตัวที่โรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง(มารดา) ในวันที่ 2 เมษายน 2566 ซึ่งโรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนเข้าเรียนก่อน และเน้นย้ำให้นำผู้ปกครอง(มารดา) มามอบตัวนักเรียนให้สมบูรณ์ภายในวันที่ 10 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่โรงเรียน จะต้องยืนยันข้อมูลจำนวนนักเรียนในระบบ DMC ของกระทรวงศึกษาธิการ แต่นักเรียนไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวทำให้ไม่มีฐานข้อมูลในระบบ จึงไม่ได้เป็นนักเรียนของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ในปีการศึกษา 2566
•
2. หลังจากที่นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย เข้าเรียนในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 โรงเรียนได้ชี้แจงให้นักเรียนรับทราบระเบียบแนวปฏิบัติตามคู่มือนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านการประชาพิจารณ์โดยภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน และนักเรียนทุกคนได้ปฏิบัติตามระเบียบนี้ แต่นางสาวธนลภย์ ผลัญชัย ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ เช่น ไม่แต่งกายชุดนักเรียน การทำสีผม การมาเรียนตามเวลา/รายวิชา ตามความพอใจของนักเรียน รวมทั้งขอไม่เข้าร่วมกิจกรรมโฮมรูม กิจกรรมหน้าเสาธง และกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการไม่ยอมรับกฎระเบียบและไม่เข้าสู่กระบวนการของโรงเรียน
•
3. โรงเรียนขอเน้นย้ำให้ทราบว่าไม่เคยปฏิเสธการรับนักเรียนเข้าเรียนและได้ให้การดูแลตามระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ถึงแม้นักเรียนไม่ได้ให้ความร่วมมือในการปรับปรุงพฤติกรรม ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น