X
ไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ที่ต้องระวัง!

ไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ที่ต้องระวัง!

31 ส.ค. 2566
1050 views
ขนาดตัวอักษร
โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) พบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2490 ในป่าซิกา ประเทศยูกันดา ซึ่งไวรัสซิกาเป็นอาร์เอ็นเอสายเดี่ยว (single-stranded RNA) อยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) จำพวกเดียวกับ ไวรัสไข้เหลือง ไวรัสเดงกี ไวรัสเวสต์ไนล์ และไวรัสไข้สมองอักเสบเจอี โดยมียุงลาย (Aedes aegypti) เป็นพาหะนำโรค

ในช่วงที่ผ่านมามีข่าวการระบาดของโรคไข้ซิกาในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งหน่วยควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศเตือนพลเมืองที่เป็นหญิงตั้งครรภ์ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางไปในพื้นที่ระบาด 14 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โคลอมเบีย เอลซัลวาดอร์ เฟรนช์เกียนา กัวเตมาลา เฮติ ฮอนดูรัส มาตินิก เม็กซิโก ปานามา ปารากวัย ซูรินาเม เวเนซุเอลา และเครือรัฐเปอร์โตริโก มาทำความรู้จักโรคไข้ซิกานี้ว่าคืออะไร และเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองจากโรค ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด
 

โรคไข้ซิกาคืออะไร

โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง

สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการโดนยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกาติดและช่องทางอื่นๆ ที่อาจเป็นไปได้ เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์
 

อาการของโรคไข้ซิกา

ระยะฟักตัวของโรคไข้ซิกาใช้เวลาเฉลี่ย 4-7 วันหลังโดนยุงกัด (สั้นสุด 3 วันและยาวสุด 12 วัน) อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มีผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง และเป็นอยู่ประมาณ 2-7 วัน ยกเว้นในหญิงตั้งครรภ์ซึ่งอาจทำให้เด็กทารกที่คลอดมามีสมองเล็ก (microcephaly) หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
 

การรักษาโรคไข้ซิกา

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพรินหรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
 

การป้องกัน

วิธีการป้องกันโรคไข้ซิกาสามารถทำได้ดังนี้

  • ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด วิธีนี้สำคัญที่สุด โดย
  • ใช้ยากำจัดแมลงหรือยาทาป้องกันยุงกัด
  • นอนในมุ้ง และปิดหน้าต่าง ปิดประตูหรือใช้มุ้งลวดติดป้องกันยุงเข้าบ้าน
  • สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวให้มิดชิด
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายโดยการทำความสะอาด การเทน้ำทิ้ง หรือปิดฝาภาชนะที่สามารถบรรจุน้ำได้ เช่น กระถางต้นไม้ เพื่อป้องกันน้ำขังอันจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
  • หากมีอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ หรืออาการที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ ควรรีบปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาทันที
  • หญิงตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาด แต่หากจำเป็นต้องเดินทาง ควรปรึกษาแพทย์และป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด

ที่มา : สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย /   โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ / กรมควบคุมโรค

Terms of Service © 2025 MCOT.net All rights reserved นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเว็บไซต์ นโยบายเว็บไซต์ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)