คติชนในวัฒนธรรมไทย จะมีความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติ ตั้งแต่การเคารพธรรมชาติ และวอนขอให้ธรรมชาติเป็นไปตามที่ปรารถนา มีการสวดมนต์และทำพิธีกรรมเพื่ออ้อนวอนธรรมชาติ เพื่อขอให้เป็นไปตามตวามต้องการของมนุษย์ เช่น ในฤดูแล้งฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ก็มีการขอฝน มีพระพุทธรูปปางขอฝน มีการสวดขอฝน ตรงข้ามกัน ถ้าฝนตกมากเกินไป ก็มีการห้ามฝน ในแต่ละถิ่นฐานมีวิธีการ ห้ามฝน ห้ามลม แตกต่างกัน ขอบอกไว้ก่อนนี่คือความเชื่อตามวิถีวัฒนธรรมที่คนโบราณเขาปฎิบัติ ที่เรารวบรวมมาไว้ แต่จะทำแล้วผลเป็นอย่างไรนั้นคงต้องดูว่าประกอบพิธีได้ตามที่บรรพชนท่านบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร
ในคติของคนล้านนา เวลาที่ฝนตกมากๆ จะมีวิธี ขัดลม หรือ แทงลม โดยใช้มีดครู หรือมีดหมอที่ลงคาถา ไปเสียบไว้ที่ฝาเรือน บางทีก็เอาไปเสียบไว้ที่หน้าต่าง หรือทางที่ลมพีดเข้าในเรือน ด้วยความเชื่อที่ว่า คมมีดที่มีความแหลมคม จะเสียดแทงลมและฝนที่กระทำต่อเรือนไม่ให้เข้ามา
วิธีต่อมาใช้การนำกระเบื้องดินเผาที่เป็นเศษจานชามที่แตกหรือเอามาทุบ เขียนยันต์ใส่บนกระเบื้อง แล้วเผาด้วยไฟแรงขนาดที่กระเบื้องแดงติดไฟ แล้วสวดไล่ฝนไปด้วย การบริกรรมก็สวดๆๆ ไปจน ฝนหยุด เคล็ดลับของวิธีนี้คือ คนทำพิธี ห้ามอาบน้ำสวดไปเอามืออังเตาไปด้วย
การเผาดินขอ เป็นการนำเอากระเบื้องดินเผาที่ใช้แล้วมาเผาไฟ โดยผู้ประกอบพิธีจะนำเอากระเบื้องมาลงยันต์จำนวนหลายแผ่น แล้ววางซ้อนทับกันบนเตาที่เตรียมไว้ จากนั้นจึงติดไฟให้ลุกโชน และต้องเติมฟืนตลอดเวลา ในส่วนของผู้ประกอบพิธีนั้น จะต้องนั่งเฝ้าเตาไฟและเอามือทั้งสองอังไฟไว้ พร้อมกับบริกรรมคาถา
วิธีห้ามฝนส่วนใหญ่เป็นการห้ามเพื่อไม่ให้ตก หรือ มีผลต่อไร่นา บ้านเรือน นอกจากเอามีไปขัดฝาเรือน ยังมีวิธีการไล่ แบบออกเสียง ด้วยการไปอยู่กลางเรือนชาน เตรียมอุปกรณ์ คิอ มีด เขียงและเหล้า พอวางเขียงไว้กลางเรือนแล้ว ก็ให้กลั้นลมหายใจเอามีดสับเขียง สับแรงๆครั้งเดียวให้มีดปักไว้บนเขียงแล้วสวดคาถา สวดเปล่าๆไม่ได้ต้องอมเหล้าไว้ในปาก แล้วพ่นใส่มีดที่สับไว้ วิธีนี้ต้องทำเป็นหมู่คณะคือมีทีมงานช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ร้องตะโกนไล่ฝน หันหน้าไปทางที่ลมหรือฝนกำลังพัดมา อุปกรณ์เคาะจังหวะไล่สามารถใช้ได้ตั้งแต่เคาะถ้วยชาม กาละมัง ไห อะไรที่เคาะแล้วเกิดเสียงระดมกันเข้าไป คติของวิธีนี้คือการเอาความอึกกะทึกไล่ฝน
ข้อมูลที่มา : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่